Sunday, July 22, 2007

เยือนไทยพลัดถิ่นในพม่า --> คนไทยในมะลิวัลย



เช้าวันใหม่ เรา ๗ คนรวมล่าม บริกรตัวเล็กและคนขับรถมุ่งหน้าสู่มะลิวัลย์ ตามประวัติศาสตร์ที่ฝรั่งเขียนเมื่อปลายศตวรรษที่ ๑๙ มะลิวัลย์พม่าเรียกมะลิยุน ตอนอังกฤษปกครองพม่า มะลิวัลย์มีฐานะเป็นเมืองเป็นศูนย์กลางการปกครอง แต่เมื่อมะลิวัลย์กลายเป็นพื้นที่ทำเหมือง ศูนย์การปกครองเลยย้ายไปตั้งที่เกาะสอง คนทั้งหมดในมะลิวัลย์ เป็นลูกผสมไทย-จีน คนสยามหรือไทย และไทยมุสลิม พม่าในเมืองมะลิวัลย์มีเพียงข้าราชการและครอบครัวจำนวนน้อยนิด ปัจจุบันมะลิวัลย์มีสถานะเป็นตำบล อยู่ในเขตอำเภอเกาะสอง มณฑลตะนิ้นตายีอยู่ใกล้ฝั่งไทยมาก พวกเราได้ข้อมูลจากฝั่งไทยว่า “ยังมีคนไทยอาศัยอยู่” มะลิวัลย์จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่เราจะไป

เราออกจากโรงแรมโดยการเช่ารถตู้ รถตู้คันเล็กนี้เป็นของโรงแรมที่ไปรับเราที่ตม. เป็นรถเก่าแก่ไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี แต่วันนี้รถคันนี้ไม่มีป้าย “MR. JO”

ก่อนออกจากเมือง โซขอเวลาแวะชื้อตั๋วเครื่องบิน และประสานการเดินทางไปมะริดให้กับเรา รถวิ่งไปตามเส้นทางที่เราเดินไปกินข้าวเย็นเมื่อวาน รถวิ่งผ่านบริษัท “Siam Jonathan” กัง ลำเลียงและโซบอกเราว่า สยามโจนาธานเป็นบริษัทคนไทย ได้สัมปทานการประมงในพม่า รถวิ่งไปถึงบริษัทขายตั๋วของ Air Bagan ร้านขายตั๋วแอร์บากันอยู่ในร้านเดียวกับร้านขายเสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องใช้ กระเป๋า สบู่ ยาสระและนวดผม ยาสีพัน สินค้าส่วนใหญ่ที่เห็นล้วนมาจากฝั่งไทย

เรายังนั่งรออยู่บนรถ เพราะฝนตก โจ้บอกและชี้ให้ดูคนขายโรตี “บังทำโรตีก้นเปียก” พร้อมถ่ายภาพ เรามองตาม เห็นบังกำลังร่อนโรตี อยู่ใต้ชายคาร้านค้าแห่งหนึ่ง หันก้นให้ถนน ก้นโดนฝนเปียก แต่บังไม่แยแส

ฝนเริ่มซาลง แต่โซยังไม่กลับจากถ่ายเอกสาร เราจึงลงจากรถ เดินดูตลาดเกาะสองตอนเช้า เห็นพ่อค้าแม่ค้าขายของริมถนน ทั้งหมาก ขนมจีนแบบพม่า และของกินอื่น เดินดูอยู่พักหนึ่ง มองเห็นโจ้และกังกำลังสนใจการทำหมากของแม่ค้ารายหนึ่ง ที่ตั้งร้านเล็ก ๆ อยู่ข้างซอย เลยเดินมาสมทบ แม่ค้ากำลังห่อหมากทีละคำ โดยปูใบพูลงกับไม้รอง แล้วแตะปูนจากถุงด้วยไม้เรียวยาว มาแปะใบพู หยิบหมากและอะไรอื่นวาง แล้วห่อขายคำละบาท แม่ค้าทำด้วยความคล่องแคล่วว่องไวอย่างมืออาชีพ

แม่ค้าเป็นมุสลิม คลุมผมด้วยผ้าดำ เราถามโดยรู้คำตอบอยู่แล้ว แม่ค้าตอบเป็นภาษาไทยว่า “ใช่ มุสลิม” นอกจากขายหมาก เธอยังขายบุหรี่ ฮอลล์ แฮ็คส์และลูกอมประเภทอื่นจากฝั่งไทย ดูอยู่สักครู่โซก็กลับมา

รถพาเราวิ่งออกจากตลาด ไปจนถึง ๓ ไมล์ คนขับรถบอกเราผ่านล่าม “รู้จักกับคนไทยคนหนึ่งที่นี้” พวกเราจึงพร้อมใจกันแวะคุย เมื่อลงจากรถก็ได้ยินเสียงพูดไทยปักษ์ใต้ที่มิใช่เสียงเชษฐ์และกัง เจ้าของบ้านซื่อโกฮอง โกฮอง “เกิดที่เกาะสอง อยู่เกาะสองมาแต่รุ่นปู่-ย่า ปู่-ย่าเป็นคนทับหลี จังหวัดระนอง หนีมาเกาะสองช่วงสงคราม พ่อเกิดที่เกาะสอง ส่วนแม่มาจากฝั่งไทย เป็นคนบางนอน จังหวัดระนอง”

“เมื่อมาอยู่ ปู่สร้างสวน สร้างหลักปักฐาน เมื่อก่อนเกาะสองมีแต่คนไทย ไม่มีพม่า เกาะสองเป็นของไทย เป็นถิ่นที่อยู่ของคนไทย คนไทยมาอยู่ก่อน มีพวกมอร์แกน มุสลิม ฮินดูและคนไทยอยู่ แต่หลังจากปากน้ำระนองเจริญ เกาะสองก็เจริญ คนพม่าจึงเข้ามา และมาอยู่เกาะสอง อย่างเร็วที่สุดปี ๒๕๒๐”

โกฮองมีพี่น้องอยู่ที่ระนอง สมัยเด็กโกเรียนที่ระนอง “เรียนไป ขายขนมไป โตมาหน่อยก็ข้ามไป ๆ มา ๆ ระหว่างเกาะสองกับระนอง” ปัจจุบัน ๓ ไมล์มีคนไทยอยู่ “๕-๖ ครอบครัว เป็นคนในเครือญาติ เป็นตระกูลจีนฮกเกี้ยน”
นอกจากเกาะสอง คนไทยยังอยู่ที่ “มะลิวัลย์ อ่าวจีน อ่าวบ้า อ่าวใหญ่ แมะปูเตะ เป็นกลุ่มคนไทยมุสลิม” โกฮองกล่าว

ฐานะของโกฮองค่อนข้างมั่นคง บ้านตึกปูน ๓ ชั้น ทำใหม่และเป็นเจ้าของเรือประมง ตอนพวกเราไปเห็นคนงานกำลังซ่อมอวนประมง คุยได้ไม่นาน โกฮองก็ให้คนไปตามพี่สาวคือสมพร สมพรมีสามมีเป็นลูกผสมไทย-จีน เธอพูดภาษาไทยใต้ชัดเจนดุจเดียวกับโกฮองผู้น้อง แต่มีความเป็นไทยเข้มข้นกว่า เธอยืนยันอย่างหนักแน่นเป็นภาษาใต้ว่า “มะลิวัลย์และเกาะสองเป็นของไทยเพ” (เพ = ทั้งหมด) “คนมะลิวัลย์ เกาะสองเป็นไทยเพ” ตอนหลัง “พม่ามาเป็นนาย พ่อแม่มีดินมาก พม่ามันเอาหมด เอาไปเฉย ๆ…คนไทยเกาะสอง มะลิวัลย์ไปอยู่ฝั่งไทย เขาไม่ให้เป็นไทย...ตนเองอยากไปอยู่ฝั่งไทย”

คุยได้พักใหญ่เรากลับมาที่รถ และบอกให้โจ้เก็บภาพบ้านและถ่ายรูปกิ้งก่าใส่หมวก สายตาเราสะดุจที่ “กิ้งก่าใส่หมวก” และเกิดคำถามในใจ “ทำไมกิ้งก่าพม่าใส่หมวก”

เรารู้ในตอนหลังจากบริกรตัวเล็ก “ป้ายรณรงค์ถุงยางอนามัย” ถึงกระนั้นเรายังสงสัยอยู่ดี “ทำไมกิ้งก่าจึงเท่ากับไอ้นั่น” กิ้งก่าคือตัวอันตรายหรือไม่ กิ้งก่าในป้ายโฆษณามีหนามแผงหลัง ที่สร้างความเจ็บปวดได้

ในหนังสือ Reconceptualizing the Peasantry ไมเคิล เคียร์นีย์ นักมานุษยาวิทยาระบือนาม เปรียบชาวนายุคโลกาภิวัตน์เป็นประดุจกิ้งก่า สามารถปรับสีเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ได้อย่างดี

“ไอ้นั่น” ของพม่าปรับสีได้ด้วยหรือ...
แต่ไม่ว่าจะปรับสีได้หรือไม่ ป้ายโฆษณานี้ก็มีค่า น่าทึ่งและสมควรเป็นโฆษณา “คลาสสิกแห่งปี” ออกจากป้ายกิ้งก่า รถตู้ราคาหลายล้านพาเราวิงไปตามเส้นทางลาดยาง โจ้ยังคงทำหน้าที่ของตนอย่างต่อเนื่อง ถ่ายภาพพระพม่าเดินเรียงแถวบิณฑบาต คนขี่จักรยานยนต์ เณรแบกถังอาหาร รถพาเราวิ่งเรียบไปตามริมทะเล ผ่านสะพานข้ามไปยังเกาะซุนตงหรือชินตง “เป็นหมู่บ้านไทยมุสลิมในพม่า” คนขับรถบอกเราผ่านโซ เกาะแห่งนี้เรารู้มาก่อนจากไทยมุสลิมพลัดถิ่น และรู้อีกว่าคนเกือบครึ่งของเกาะซุนตง อพยพไปอยู่เกาะสินไห กลายเป็นไทยพลัดถิ่นในแดนไทย

รถวิ่งเลยไปถึง ๗ ไมล์ ทิวทัศน์ริมทางเป็นสวนปาล์ม สวนยางพาราและพืชพรรณอื่น ที่ใกล้เคียงกับในภาคใต้ของไทย เชษฐ์ลูกหลานดำ หัวแพร โจรชาวนานามกระเดื่องแห่งพัทลุงในอดีต ถ่ายภาพริมทาง ทั้งภาพสวนยาง สวนมะพร้าว บ้านเรือน รถรา วัวควายและสวนปาล์ม

ปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในพม่า ปลูกมากในตะนิ้นตายี รัฐบาลทหารพม่าต้องการให้มณฑลตะนิ้นตายีกลายเป็น “ชามน้ำมันปาล์มของพม่า” โดยการสนับสนุนเอกชนปลูกปาล์มนับแสนไร่ รถวิ่งผ่าน ๑๙ ไมล์และ ๒๒ ไมล์ เรามองออกนอกหน้าต่าง เห็นบ้านและการแต่งกายก็รู้ได้ทันทีว่า “บ้านคนไทย” วิ่งไปจนถึง ๒๓ ไมล์ แลเห็นป้ายบอกทางแยกเล็ก ๆ มีลูกศรชี้ทิศ เขียนข้อความ “วัด(ไทย)มะลิวัลย์”

การเขียนชื่อวัดไทยเป็นภาษาไทยในฝั่งพม่า เรารับรู้มานาน จากคำบอกเล่าของไทยพลัดถิ่น พวกเขาย้ำเสมอว่า “คนไทยฝั่งนั้น ยังเป็นไทย รักษาความเป็นไทย เรียนภาษาไทย มีวัดไทย บวชแบบไทย”

เหมือนคนขับรู้ใจ เลี้ยวซ้ายตามป้ายบอกทางอย่างไม่รีรอ รถวิ่งไปได้สักครู่ ป้ายวัดขนาดใหญ่ก็ปรากฏต่อสายตาพวกเรา ข้างบนเขียนเป็นภาษาพม่า ข้างล่างเขียนเป็นภาษาไทยตัวโตและชัดเจน “วัดไทยมะลิวัลย์” เข้าถึงเขตวัดเราแวะลงที่ศาลาวัด ด้านหน้ามีป้ายข้อความ “ยินดีต้อนรับ” เป็นภาษาไทย ลึกเข้าไปข้างในมีข้อความเขียนเป็นภาษาไทย “๒๕๔๙ วันเข้าพรรษา ๑๑-๗-๒๐๐๖”

เราเดินไปห้องน้ำ โดยการนำของเณรรูปหนึ่ง ที่บอกเราว่า “เป็นพม่า” แต่พูดไทยได้ ห่มสบงจีวรแบบพระไทย สีสบงจีวรแบบพระไทย และพระทั้งวัดบวชแบบพระไทย สบง จีวรสีเหลือง ไม่แดงเข้มแบบพระพม่า โกนคิ้ว ไม่ไว้คิ้วเหมือนพระพม่า และเป็นพระวัดเดียวในบรรดาอีกหลายวัดที่เราเห็นตลอด ๗ วันที่อยู่ในแดนพม่า ที่แต่งองค์และบวชในลักษณะนี้

หน้าห้องน้ำ แลเห็นข้อความภาษาไทยเต็มไปหมด หลังเข้าห้องน้ำ แวะเข้าโรงครัว แลเข้าไปภายในเห็นทิวแถวของป้ายภาษาไทยแจงรายนามผู้บริจาคเงินสร้างวัด สร้างห้องน้ำและโรงครัว ผู้บริจาคมีทั้งชื่อพระในวัด พุทธศาสนิกในฝั่งพม่าและจากฝั่งไทย

โจ้และเชษฐ์ยังทำหน้าที่ของตนคือถ่ายภาพ โจ้เดินไปถ่ายป้ายข้อความที่ติดไว้ตามต้นไม้ เพื่อเชิญชวนให้มนุษย์กิเลสหนาทำความดี ป้ายมีพื้นสีเขียวและน้ำเงินหลากหลายป้าย เขียนเป็นภาษาไทยและภาษาพม่า ราวกับพระวัดนี้ตั้งใจจะบอกว่า วัดไม่เคยแยกคนไทย คนพม่า ความดีไม่แบ่งเชื้อชาติ ป้ายข้อความที่โจ้เลือกถ่ายคือ “ผู้มีปัญญา ย่อมรักษาตนได้” “ถ้าทำใจให้สงบ จะพบความสุขเยือกเย็น” เชษฐ์เลือกบันทึกป้าย “ทำดีไม่ได้ผล เพราะทำตนลุ่ม ๆ ดอน ๆ” และ “เศษแก้วบาดคม เศษคารมบาดใจ”

โจ้และสิทธิเดินดูกุฏิพระ นามพระและนามกุฏิล้วนเขียนนามเป็นภาษาไทย บางกุฏิเขียนชื่อผู้สร้างถวาย เช่น กุฏิอาจารย์เตี้ยม แต่กุฏิที่เราให้ความสนใจมากที่สุดคือกุฏิเจ้าอาวาส หน้ากุฏิมีข้อความเขียนว่า “กุฏิเจ้าอาวาส พระอาจารย์โทนชัย สุธมฺโม” และวงเล็บในตอนล่างว่า “เจ้าอาวาส”

โจ้ถ่ายรูปศาลาปู่เจ้าสงฆ์ ที่มีข้อความภาษาไทยเขียนบอกว่า “นางกิ้มชายและครอบครัวสร้างถวาย” ถ่ายรูปโบสถ์ที่เป็นทรงไทยอย่างชัดเจน ป้ายรายนามญาติของเจ้าเมืองมะลิวัลย์ ที่ถวายที่ดินสร้างวัดไทยมะลิวัลย์ ภาพตาลปัตรกฐินสามัคคี ทอด ณ วัดไทยมะลิวัลย์ จัดโดยคณะศึกษาและปฏิบัติธรรม ตามพระไตรปิฎกจากกรุงเทพ ฯ เมื่อ ๒๐ ต. ค. ๒๕๔๔ เชษฐ์ถ่ายภาพต่าง ๆ คล้ายโจ้ และเลือกเก็บภาพปฏิทินที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ ปี ๒๕๔๖ ที่ยังคงใหม่และสมบูรณ์ รวมทั้งรูปพระพุทธรูปที่สร้างถวายโดยพุทธศาสนิกจากฝั่งไทย

กัง ลำเลียงพูดคุยอยู่กับน้ำอ้อย น้ำอ้อยมีเชื้อสายไทย พูดไทยได้ชัดเจนและเป็นคนแนะนำให้เราไปซิมก๋วยเตี๋ยวไทยฝั่งพม่า ส่วนโซและบริกรตัวเล็กกำลังนั่งคุยกับเจ้าอาวาส ที่คนไทยในมะลิวัลย์เรียก พระอาจารย์

ฝนยังตกไม่ขาดสาย แต่เราก็เดินจุ้นทั้งวัด สักครู่พระอาจารย์เรียกพวกเราเข้าไปนั่งคุย พระอาจารย์เป็นคนเชื้อสายมอญ พูดไทยกลาง ไทยปักษ์ใต้ พม่า อังกฤษ เคยมาเรียนที่ฝั่งไทย ที่วิทยาลัยสงฆ์ วิทยาเขตกำแพงแสน พระอาจารย์บอกว่า คนไทยมาทำบุญที่วัดมะลิวัลย์เป็นประจำ มาจากกรุงเทพฯ ก็มาก จากระนองก็มี มาทอดผ้าป่า ทอดกฐิน กฐินปีนี้จะจัดวันที่ ๒๒ ตุลาคม และ “เชิญโยมมาร่วมทำบุญ”

ก่อนจากลา พระอาจารย์ให้หนังสือพวกเราคนละ ๒ เล่ม คือ หนังสือชื่อ โสตถิธรรม (๑๕) และ โสตถิธรรม (๑๖) ทั้งสองเล่มจัดพิมพ์ในเมืองไทย โดยชมรมศึกษาและปฏิบัติธรรม สโมสรกระทรวงอุตสาหกรรม กรุงเทพฯ ในปี ๒๕๔๒ และ ๒๕๔๓ ตามลำดับ เรากราบลาพระอาจารย์ ด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก

เราหิวข้าว ประการที่สอง

ถึงเวลาที่พระอาจารย์ฉันอาหารเพล

ออกจากวัด รถพาเราเลี้ยวซ้าย วิ่งไปไม่ไกลนัก ผ่านบ้านผู้คน เรามองเห็นบ้านและการแต่งกาย เห็นร้านขายขนมครก เรามั่นใจว่า นั้นคือคนไทยและบ้านคนไทย พวกเรารีบลงจากรถ ทักทายเจ้าของร้านและบ้านเป็นภาษาไทย และได้รับการตอบรับเป็นภาษาไทยเช่นกัน แต่ดูเหมือนเจ้าของบ้านจะไม่ตื่นเต้นกับการมาของพวกเรา สิ่งนี้อาจเป็นเพราะ “พื้นที่ตรงนี้มีคนไทยผ่านมาบ่อย” เราคิด

เราสั่งก๋วยเตี๋ยว แต่เจ้าของร้านแถมขนมครก ไม่พูดคุยกับเจ้าของร้านมากมาย เพราะเกรงใจและรบกวนเวลา เราบอกลาและขอบคุณ แต่ก่อนขึ้นรถ เราได้พบสาวสวยอนงค์หนึ่ง แม้เธอจะมิได้เข้าร่วมขบวนการ “ยิกทักษิณ ยิกคนหน้าเหลี่ยม” แต่เธอก็ใส่เสื้อเหลืองที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ

เธอใส่เสื้อเหลืองฉลอง “การครองราชย์ครบ ๖๐ ปี” ตัวใหม่เอี่ยม

รถวิ่งไปสักพัก เราบอกให้รถหยุด แล้วเข้าไปทักทายเจ้าของบ้าน แรกสุดเราได้คุยกับน้องนิด น้องนิดพึ่งกลับจากฝั่งไทย เธอบอกว่า “เป็นลูกคนสุดท้อง” ปัจจุบันเธอเรียนอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคระนอง เธอเรียนโดยใช้นามสกุลของคนอื่น นิดมีพี่น้องรวมทั้งเธอสามคน อีกสองคนเป็นชาย

บ้านของเธอมีสองชั้น บ้านปูนหลังใหญ่และมั่นคง หน้าบ้านแขวนกรงนกกรงหัวจุกคล้ายกับคนปักษ์ใต้ฝั่งไทย ภายในบ้านมีเฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับประดาต่าง ๆ ที่มาจากฝั่งไทย รวมทั้งนาฬิกาปลุก ตุ๊กตา ถังก๊าชหุงต้ม ทีวี ตู้เย็น สเตริโอและอื่น ๆ

สิ่งที่เราต้องการเห็นก็คือ รูปในหลวง ที่ไทยพลัดถิ่นจากประจวบ ฯ บอกว่า ”บ้านไหนมีรูปในหลวงคือบ้านคนไทย บ้านพม่าหามีรูปในหลวงไม่” สิ่งที่เราเห็นบนผนังบ้านด้านบน สูงจากเก้าอี้ที่เรานั่งคุยกัน คือ รูป “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” พระดังผู้มีอิทธิพลสูงล้นต่อคนไทยปักษ์ใต้ ถัดจากหลวงปู่ทวดเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของ “สมเด็จ ร. ๕ ทรงม้า” ถ่ายจากลานพระบรมรูปทรงม้าในกรุงเทพ ฯ ถัดมาเป็นรูปกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

ผนังด้านตรงข้ามมีกระจกเงาบานใหญ่ เหนือกระจกเงา มีนาฬิกาเรือนใหญ่ ภายในมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบทสมเด็จประเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันและสมเด็จพระราชินี ถัดมาเป็นรูปดาราชื่อดังของไทย ปฎิทินที่มีพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน และต่ำลงมาเป็นรูปถ่ายที่บันทึกความทรงจำของครอบครัว

เรามีโอกาสคุยกับแม่ของนิด แม่นิดเกิดที่มะลิวัลย์ ตาของนิดเกิดที่มะลิวัลย์ เป็นคนไทย ส่วนปู่เป็นคนทับหลี จังหวัดระนอง สมัยแม่ของนิดเป็นเด็กในมะลิวัลย์มีแต่คนไทย ไม่มีพม่าปน “ผืนดินตรงนี้เป็นไทย แต่ถูกพม่าเอาไป ถูกอังกฤษยึดไป ตอนหลังตกเป็นของพม่า”

คนไทยในมะลิวัลย์ปัจจุบันมี “๔๐-๕๐ ครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นคนเฒ่าคนแก่ เด็กหนุ่มสาวถูกส่งไปเรียนที่ฝั่งไทย” แม่นิดไม่ย้ายไปฝั่งไทย เพราะไปแล้ว “ฝั่งไทยไม่ให้เป็นไทย ไม่ให้บัตร ไม่มีที่ดิน หากินลำบาก” แม่นิดเล่า บ้านของนิดเลี้ยงหมูและมีสวน พ่อของนิดเป็นคนไทย แต่ไม่ร่วมพูดคุยกับเรา เพราะกินยามากเลยทำให้ “หูหนัก” ฟังผู้อื่นไม่ได้ยิน

ออกจากบ้านนิด เราเดินต่อไปที่บ้านโกอ่าง พบโกขณะกำลังนอนอ่านนิตยสารชีวิตรัก โกพูดไทยกลาง ไทยปักษ์ใต้ เป็นคนมะลิวัลย์โดยกำเนิด เป็นลูกผสมไทยจีน เตี่ยของโกมามะลิวัลย์เพื่อทำเหมืองสมัยอังกฤษปกครองพม่า สมัยเด็กโกไปเรียนหนังสือที่ฝั่งไทย ที่โรงเรียนละอุ่นใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง ปัจจุบันโกอ่างมีลูก ๓ คน อยู่ที่ระนองและอยู่กรุงเทพ ฯ

โกยืนยันเช่นคนอื่น “มะลิวัลย์และเกาะสองเป็นผืนดินไทย เกาะสองคือคนไทยที่ย้ายไปจากมะลิวัลย์ เมื่ออังกฤษเปลี่ยนศูนย์การปกครอง เจ้าเมืองมะลิวัลย์เป็นเพื่อนกับเจ้าเมืองระนอง โกซิมก้อง โกซิมก้องสร้างเมืองระนอง เจ้าเมืองมะลิวัลย์สร้างเมืองมะลิวัลย์ แต่ฝรั่งแยกเมืองระนองและมะลิวัลย์ออกจากกัน” วัดมะลิวัลย์ที่พวกเราเห็น โกบอกว่า “เป็นวัดสร้างใหม่ สร้างมาประมาณ ๓๐ ปี วัดเก่าตั้งอยู่ที่ริมท่าน้ำ ทางเข้าลำบาก ยังพอเห็นว่าเป็นวัด วัดเก่าเป็นวัดไทย ชื่อไทย พระไทยล้วน ที่ดินวัดใหม่บริจาคโดยญาติของเจ้าเมืองมะลิวัลย์ ทั้งที่อยู่มะลิวัลย์ ระนองและกรุงเทพฯ”

มะลิวัลย์เป็นเขตที่ปลอดภัยไม่มีกระเหรี่ยงอยู่ คนไทยกับพม่าอยู่ด้วยกันอย่างดี “ใครปกครองมะลิวัลย์” คือคำถามจากพวกเรา “เท่าที่จำได้” โกเล่า “มะลิวัลย์หลังลดฐานะเป็นตำบล มีกำนันหรือจางวางปกครอง เป็นคนไทยผสมจีนชื่อบุญสิ้ว แช่ตัน เป็นคนที่เกิดในมะลิวัลย์ พ่อแม่เป็นคนที่เกิดในมะลิวัลย์...ถัดจากโกสิ้ว คือ โกอ่าย เป็นกำนัน เป็นลูกครึ่งไทยจีน เป็นลูกหลานของเจ้าเมืองมะลิวัลย์ โกอ่ายมีแม่เป็นคนไทย มาจากฝั่งไทย หลังโกอ่าย โกก้ำเป็นกำนัน”

โกก้ำยังมีชีวิตอยู่ โกก้ำ “เป็นกำนันอยู่ ๘ ปีก็ลาออก...รับใช้พม่านานไม่ดี รับใช้พม่านานไม่ไหว” มะลิวัลย์ช่วงหลัง “มีคนหลายเชื้อชาติ มอญ พม่า ไทย...เห็นว่าคนไทย เข้ากับคนอื่นได้ดี พม่าจึงให้เป็นผู้นำ หลังโกก้ำ กำนันมะลิวัลย์เป็นพม่า”

เมือถามถึงยาเลสุข โกอ่างบอก “ไม่รู้จัก” แต่จำเรื่องราวเกี่ยวกับจอมขี้หกได้ “คน ๆ นี้เป็นคนที่โกหกเก่ง เป็นเจ้าเป็นจอมโกหก วันหนึ่งยาเลสุขขี่ช้างมาและท้าให้จอมโกหกโกหกให้ยาเลสุขลงจากหลังช้าง ตอนนั้นเขาขี่ช้างกัน ‘ไหนแน่จริงโกหกให้กูลงจากหลังช้างที’ จอมโกหกบอกว่า ‘ไม่สามารถโกหกให้ใครลงจากหลังช้างได้ แต่โกหกให้คนขึ้นช้างได้’ ยาเลสุขลงจากหลังช้างและท้าจอมโกหกอีก ‘ไหนแน่จริงโกหกให้กูขึ้นหลังช้างที’ จอมโกหกบอกว่า เขาได้โกหกให้ยาเลสุขลงจากหลังช้างแล้ว ยาเลสุขจะขึ้นช้างอีกหรือไม่ก็ตามใจ” นั่นคือเรื่องราวของยาเลสุขที่โกอ่างจำได้ และบอกพวกเราเพิ่มเติมอีกว่า “ยาเลคือตำแหน่งทางตำรวจของพม่า เท่ากับผู้กอง”
สิ่งนี้เรารู้มาก่อน เรารู้เรื่องของยาเลสุข และตำแหน่งยาเลจากการอ่าน เที่ยวเมืองพม่า ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่สำนักพิมพ์มติชนนำมาพิมพ์ใหม่

แม้จะอยู่ฝั่งพม่า แต่โกอ่างก็อ่านนิตยสารชีวิตรัก นิตยสารดาราทีวีไทยที่มีกองเป็นพะเนินในบ้าน ดูทีวีไทยซ่องเจ็ดสีและซ่องอื่น ๆ ที่ดูได้ในมะลิวัลย์ บ้านของโกอ่างเองติดจานรับยูบีซีและฟรีทีวี มีความสุขอยู่กับการทำสวนและเลี้ยงนกกรงหัวจุก ที่มีนับสิบตัว

ก่อนจากลา โกอ่างแนะให้เราไปดูบ่อน้ำร้อนที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก เราเชิญโกอ่างนำทาง รถวิ่งต่อไปตามเส้นทางไปปกเปี้ยน แต่ทางลาดยางไปสิ้นสุดในอีก ๒-๓ กิโลเมตรข้างหน้า ก่อนสิ้นสุดถนนลาดยาง เราแวะลงด้านขวามือ เข้าสู่บ่อน้ำร้อน ถึงบ่อน้ำร้อน เชษฐ์ หัวแพร อุทานอย่างสุภาพว่า “แมร่ง เหมือนบ่อน้ำร้อนระนอง ไม่รู้ใครลอกแบบใคร”

บ่อน้ำร้อนโบกหิน/ปูนรูปวงกลมด้วยปูน เราอยากรู้ว่า ร้อนจริงมั้ย เลยเอามือลงสัมผัส และต้องชักมือกลับรวดเร็ว ที่จริงน้ำไม่ร้อนอะไร เป็นน้ำอุ่น สถานที่แห่งนี้โกอ่างบอกว่าสร้างสมัยที่โกสิ้วเป็นกำนัน เดิมเป็นเหมืองแร่ ถัดจากบ่อน้ำร้อนไม่ไกลเป็น “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์” สร้างเป็นรูปวงกลม มีสามแฉกตรงกลาง แต่ “ศักดิ์สิทธิ์” ยังไง ไม่ได้ถามและลืมถาม

โกอ่างขอที่อยู่พวกเรา พวกเราขอเบอร์โทร เป็นเบอร์มือถือของฝั่งไทย ในเขตเกาะสองและมะลิวัลย์ ยันช้างฟังที่อยู่ไกลออกไป ชาวบ้านดูทีวีไทยและใช้มือถือไทย ซิมไทย โกอ่างบอกทิ้งท้าย “คนมะลิวัลย์กับระนองเป็นญาติพี่น้อง คนมะลิวัลย์กลายเป็นคนไทยตกหล่นในแดนพม่า...คนสองฟากไปมาหาสู่กันทุกวัน…งานบุญ ประเพณี วัฏฏะปฏิบัติของคนมะลิวัลย์เหมือนกันทุกประการกับระนอง ไม่ผิดเพี้ยน” รถวิ่งกลับทางเดิม ผ่านเลยมะลิวัลย์สู่ ๒๒ ไมล์ ซึ่งเป็นสถานที่เกิดของโกอ่าง ถึง ๒๒ ไมล์เราแวะบ้านขวามือ ที่เราหมายตาตั้งแต่ขาไป เพราะป้ายผ้าภาษาไทยหน้าบ้านล่อใจ บ้านหลังนี้คือบ้านโกก่าย บานประตูบ้านโกก่ายมี “บทกวีข้างฝา” ภาษาไทยและอังกฤษ “รักเธอแต่เธอไม่รู้…รัก…Vit…I love you Vittaya…กระท่อมชายโสด…”

แต่โกก่ายมิใช่ชายโสด เค้าหน้าโกก่ายออกจีน ๆ เตี่ยของโกก่ายเป็นคนกระบุรี บ้านอยู่แถวบางกุ้ง เตี่ยข้ามมาฝั่งพม่าช่วงสงคราม โกก่ายเกิดที่ ๒๒ ไมล์ สมัยเป็นหนุ่มไปทำงานขับรถที่สุราษฎร์ “ไปได้ไง” พวกเราถาม สมัยนั้น “ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครตรวจบัตร” เมียโกก่ายตอบ ขับรถอยู่สุราษฎร์ ๕ ปี ไปพบรักกับน้าน้อย สาวกาญจนดิษฐ์ ทั้งสองตกลงแต่งงานกัน อยู่สุราษฎร์ ๓ ปี มาเยี่ยมญาติที่ ๒๒ ไมล์ เมื่อมาถึง พ่อแม่ฝ่ายชายไม่ให้กลับ น้าน้อยและโกก่ายจึงต้องอยู่ที่ ๒๒ ไมล์จนถึงปัจจุบัน

วันที่เราไปเยี่ยม น้าน้อยพึ่งกลับจากกาญจนดิษฐ์ “ไปทำบุญเดือนสิบ” ซึ่งเป็นงานใหญ่และสำคัญของภาคใต้ ที่คนภาคใต้ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของประเทศไทย ส่วนใหญ่ต่างกลับบ้านเพื่อเลี้ยงส่ง(ผี)ตายาย รวมถึงน้าน้อยที่ข้ามฟากจาก ๒๒ ไมล์ในฝั่งพม่าไปร่วมงาน น้าน้อยอยู่พม่ากว่า ๔๐ ปี มีลูก ๖ คน ทุกคนเรียนหนังสือที่ฝั่งไทย คนหนึ่งเป็นช่างไฟฟ้าที่ระนอง อีกคนอยู่อำเภอละอุ่น อีกคนทำงานที่กรุงเทพ ฯ ลูกอีกคนกำลังเรียนหนังสือที่ฝั่งไทย ลูกชายที่ไม่ได้เรียนต่อ ทำงานอยู่บ้านกับพ่อแม่ที่ ๒๒ ไมล์

บ้านโกก่ายและน้าน้อยทำด้วยไม้ สองชั้น อยู่ริมถนน หลังบ้านเป็นสวน ที่สองสามีภรรยาสร้างสมมานาน
“บ้านในพม่าสร้างใหญ่ไม่ได้ เพราะเสียภาษีแพง นายพม่าจะทำอะไรก็เก็บภาษีคนไทย” น้าน้อยเล่าและเล่าต่อ “มาอยู่แรก ๆ ไม่มีพม่า มีแต่คนไทยอยู่กันเป็นแถบ พม่าเข้ามาทีหลัง” เดี่ยวนี้พม่ากวน “คนไทยหนีไปอยู่ฝั่งไทย เหลืออยู่ฝั่งนี้ราว ๕๐ ครัว”

อุปกรณ์ เครื่องใช้ เครื่องประดับตกแต่งบ้านน้าน้อยคล้ายกับบ้านนิด ส่วนใหญ่มาจากฝั่งไทย ปฎิทินจากฝั่งไทย รวมทั้งปฏิทินรูปพระเจ้าตากสินมหาราชที่เก่าและติดไว้นาน ปุ๋ยและอุปกรณ์เคมีการเกษตรจากฝั่งไทย หนังสือหนังหา หยูกยาจากฝั่งไทย ทั้งหนังสือการ์ตูนมหาสนุก ขายหัวเราะ การ์ตูนนิยายเริงรมย์ เช่น ผัวอย่างนี้มีเป็นร้อย, เฮี้ยวสุด ๆ รักสุด ๆ รวมถึงการ์ตูนทวีปัญญา เช่น ป่าพิสดาร

บ้านหลังนี้ “กำลังบอกขาย จะไปฝั่งไทย” เพราะไม่เคยคิดว่าตนเป็นพม่า เกลียดพม่า ไม่ยอมให้ลูกรักชอบและแต่งงานกับพม่า “ไม่ไหว พม่าขี้ลัก อาหารการกินลักของชาวบ้าน มีของลักของชาวบ้าน นายอะไรรักของชาวบ้าน ไม่ชอบ ขี้ลัก ไม่ฟัง เอาลูกเดียว”

“เวลาไทย” โซที่นั่งฟังเราสนทนามานานพูดทักท้วง “บ้านนี้คนไทย ไม่มีบัตรพม่า” น้าน้อยพูดขณะที่เราทุกคนหันไปมองนาฬิกาที่แขวนบนบันไดขึ้นชั้นสองของบ้าน ก่อนจากลาน้าน้อยบอกกับเรา “แต่นี้ไป บ้านเรือนที่อยู่ด้านซ้ายมือจนถึงค่ายทหาร เป็นบ้านคนไทย” ค่ายทหารในพม่ามีมาก “จากมะลิวัลย์ถึงปกเปี้ยนมีอยู่ ๑๐ กองพัน” คือ ข้อมูลที่โกอ่างบอกกับเราก่อนหน้า

รถวิ่งกลับตามเส้นทางเดิม ฝนยังคงโปรยลงมา โรงเรียนเลิกแล้ว เด็กตัวน้อยสวมชุดเสื้อขาว กางเกง-โสร่งหรือผ้านุ่งเขียวกำลังเดินกลับบ้าน รถวิ่งเลย ๑๙ ไมล์ไปแล้ว น้ำตกมะลิวัลย์อยู่ขวามือ โซถาม “จะไปดูไหม” เราบอก “ไม่” การปฎิเสธครั้งนี้ ไม่ทราบผิดหรือถูก แต่ตอนหลังได้อ่านหนังสือ Ma Kyone Galet ของ Ma Ohmar ซึ่งเขียนเล่าว่า น้ำตกมะลิวัลย์แห่งนี้เป็นน้ำตกเตี้ย ไม่มีสิ่งใดน่าตื่นเต้น

เราไม่ได้กลับไป ๑๙ ไมล์ รถยังคงวิ่งต่อไปเรื่อย ๆ สิ่งที่อยู่ในใจเราคือ “เวลาไทย” และ “บ้านนี้เป็นไทย” เวลาพม่าที่ลิบอกเราช้ากว่าเวลาไทย ๓๐ นาที แต่เวลาที่บ้านน้าน้อยเทียบกับนาฬิกาบนข้อมือ นาฬิกาน้าน้อยเป็นเวลาไทย ดูเผิน ๆ เวลาเป็นเรื่องของนาฬิกา แต่ในทางมานุษยวิทยา เวลาเป็นอะไรอื่นที่มากกว่านาฬิกา เวลาคือมิติของสังคม เป็นจังหวะหรือท่วงทำนองของชีวิต “แม้จะอยู่ในพม่า แต่ใช้เวลาไทย หมายความว่ากระไร” หมายถึง “การใช้ชีวิตแบบไทย ผูกพันอยู่กับข่าว ทีวี พิธีกรรม หรือวิถีชีวิตแบบไทย ใช่หรือไม่” “บ้านน้าน้อยมีจินตนาการร่วมกับรัฐและชาติไทย และคนไทยใช่หรือไม่” เหล่านี้คือโจทย์และคำถามใหญ่ ที่เลยกรอบพรมแดนของรัฐและประเทศ และเป็นประเด็จที่รัฐดัดจริตของไทยไม่เคยคิดหรือตระหนัก เราเห็นหนังสือ เจริญธรรมภวนา ที่บ้านน้าน้อยและขอติดมือมา ที่สนใจหนังสือเล่มนี้หาใช่เพราะเป็นคนธรรมะ ธรรมโม หรือเป็นหนอนหนังสือธรรม แต่เพราะมีเรื่องวัดไทยมะลิวัลย์ ความในหนังสือเขียนว่า “วัดไทยมะลิวัลย์ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเมืองมะลิวัลย์ บนเกาะวิกตอเลียปอย (เกาะสอง) ประเทศสหภาพเมียนมาร์...เป็นเกาะที่อยู่ใกล้จังหวัดระนองของประเทศไทย มี...ทะเลอันดามันขั้นระหว่างกัน ใช้เวลาในการเดินทางจากท่าเรือระนองไปเกาะสองประมาณ ๓๐ นาที” “ลูกหลานตระกูลเจ้าเมืองมะลิวัลย์มีดำริที่จะปรับปรุงและซ่อมแซมวัดไทยเก่าแก่ของเมืองมะลิวัลย์ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ของวงศ์ตระกูล เพื่อเป็นการสร้างมหากุศล เพื่อให้ชาวพุทธในเมืองมะลิวัลย์ได้มีวัดเพื่อจัดกิจกรรมบำเพ็ญกุศล... จึงได้ชักชวนลูกหลานของเจ้าเมืองมะลิวัลย์ที่เป็นชาวมะลิวัลย์ ชาวเกาะสอง ชาวระนองร่วมกันซ่อมแซมและบำรุงวัดไทยมะลิวัลย์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ แล้วนิมนต์พระภิกษุจากเมืองไทย (วัดตโปทาราม จังหวัดระนอง ไปเป็นเจ้าอาวาส) ต่อมาในปลายปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ ได้ดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถ”

หนังสือเล่าต่อว่าในปี ๒๕๔๓ อาจารย์สุชาติ นาคอ่อน อาจารย์ที่สอนพระธรรมตามพระไตรปิฎก ได้นำคณะศึกษาและปฏิบัติธรรมตามพระไตรปิฎก ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดระนอง เพื่อไปทอดผ้าป่าที่วัดไทยมะลิวัลย์ เมื่ออาจารย์สุชาติ ทราบว่าวัดกำลังสร้างพระอุโบสถและยังไม่มีพระประธานในพระอุโบสถ จึงปวารณาที่จะสร้างพระประธานให้วัด เมือกลับจากทอดผ้าป่า อาจารย์สุชาติก็เริ่มโครงการสร้างพระพุทธคันธราชปางตรัสรู้ และในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ อาจารย์สุชาติ นาคอ่อนได้นำ “คณะศึกษาและปฏิบัติธรรมตามพระไตรปิฎกจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดระนอง ทำพิธีน้อมถวายพระพุทธคันธราชปางตรัสรู้ ให้วัดไทยมะลิวัลย์ ซึ่งมีการจัดดอกไม้ มาลามาลัย เป็นเครื่องสักการะไตรรัตนะบูชาอย่างงดงาม”

“ชาวบ้านมะลิวัลย์-เกาะสอง-ระนองเป็นชุมชนข้ามพรมแดน เขามองไม่เห็นชายแดน เขาทำบุญข้ามพรมแดน เป็นพี่น้องข้ามพรมแดน” คือข้อความที่เรานึกได้ ข้อความนี้จำได้ว่าอ่านจากบทความ “ถิ่นพลัดไทยไป-ไทยพลัดถิ่นมา” ของสิริพร สมบูรณ์บูรณะ เพื่อนร่วมงานของเราคนหนึ่ง ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือมุ่งสู่มานุษยวิทยาประยุกต์
“พวกเขาปฏิบัติความเป็นไทยข้ามพรมแดน พวกเขาไม่ใช่พม่า แต่เป็นไทย เพียงแต่รัฐไทยไม่ให้เขาเป็นไทย คลื่นโทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์มือถือไทยไม่เคยแบ่งพรมแดน แต่รัฐไทยหยุดยั้งความเป็นไทยไว้ที่พรมแดน” เราคิด

รถวิ่งถึง ๑๐ ไมล์ คนขับแวะจอดถามบังคนหนึ่งถึงไทยมุสลิม บังขึ้นรถและพารถย้อนกลับไปร้านขายของและกาแฟ พวกเราลงและทักทายกับเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านเป็นหญิงสองคนสองวัย เราถามคนแม่ “พูดไทยได้มั้ย” ผู้เป็นแม่ยังไม่ตอบ ลูกสาววัยกำลังเริ่มสาวรีบตอบ “ได้คะ”

ยังมิได้พูดคุย บังก็ขี่จักรยานยนต์เข้าบ้านมา สองแม่ลูกที่เราคุยด้วยคือภรรยาและลูกของบังอาจ บังอาจทักทายพวกเรา เราบอกว่ามาจากฝั่งไทย มาเยี่ยมชมหมู่บ้านไทย คุยกับไทยพุทธมาแล้ว อยากพูดคุยกับไทยมุสลิม
บังบอก “๑๐ ไมล์เป็นตำบลกินพื้นที่จากแหลมแรตถึง ๘ ไมล์ มีคนไทยอยู่ไม่มาก ประมาณ ๑๕๐ ครัว…ไทยมุสลิมส่วนใหญ่อยู่ตำบลช้างพัง ตำบลช้างพังคนไทยเรียกอ่าวจีน เป็นตำบลที่ใหญ่สุดในอำเภอเกาะสอง ประชากรร้อยละ ๘๐ เป็นไทย ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ไทยพุทธที่ช้างฟังก็มี เป็นคนไปจากมะลิวัลย์ มุสลิมช้างพังร้อยละ ๙๙ เรียนภาษาไทย บางคนไปเรียนฝั่งไทยแล้วกลับมาเรียนพม่า มุสลิมที่ ๑๐ ไมล์มีน้อย...ประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ ครัวย้ายไปอยู่ฝั่งไทย”

ฝนเทลงมาอย่างหนักและหนาเหมือนตราช้าง ลูกชายเล็ก ๆ ของบังกลับจากโรงเรียน ลูกบังสะพายย่าม สวมเสื้อขาว กางเกงเขียวตามแบบฟอร์มนักเรียนของพม่าและอยู่ในสภาพที่เปียกปอน “ที่บ้านพูดจา ๓ ภาษา ไทย มาลายูและพม่า” บังเล่าและเล่าต่อ “เกิดที่สิบไม้ พ่อแม่มาจากฝั่งไทยตอนสงครามญี่ปุ่น…ญาติพี่น้องอยู่ที่หินช้าง ระนอง ฝ่ายแม่มาจากเกาะยาวใหญ่-ยาวน้อย จังหวัดพังงา...ตอนเด็กไปเรียนที่กระบี่ปี ๒๕๑๗ กลับมาอยู่ฝั่งนี้ปี ๒๕๒๐ คนอื่นก็ไป ๆ มา ๆ สมัยก่อนคนไทยมาทำงานที่นี่ คนจากหินช้าง กำผวนในฝั่งไทย มาทำงานที่นี่ เป็นคนไทยแท้ ๆ ไม่ต้องทำบัตร ทำอะไร พ่อค้ากุ้งค้าปลาที่นี่ก็ไปขายที่ระนอง คนฝั่งระนองก็มาทำงานที่นี่ พอมีปัญหาก็กลับ บางคนพ่ออยู่ฝั่งไทย แม่อยู่ฝั่งนี้ แต่ทำบัตรฝั่งนี้ไม่ได้”

“อยู่พม่าต้องใช้จิตสำนึก อยู่ด้วยการพึ่งตนเอง มันเก็บภาษีเยอะ อยู่ต้องพิจารณา ถ้าทนไม่ได้ก็ต้องไป...ไปฝั่งไทย เหมือนไปเกิดใหม่ ก็ต้องไป…ผมก็ไม่แน่ เราอยู่ตามพ่อแม่ อยู่ไปดูไป บางทีมันมาแบบพายุ มันเป็นรัฐบาลทหาร คนที่นี่ไป ก็ไปอยู่หินช้าง สะพานปลา และสินไห ที่สินไหมีคนจากชินตงไปอยู่กันเยอะ...”

“จะไปไหนต่อ” บังถาม “มะริด” ใครคนหนึ่งของพวกเราตอบ บังบอกว่า “เคยไปที่มะริด มีคนไทยจากสิงขรมาเปิดร้านขายของในมะริด แต่ก่อนในสิงขรมีคนไทยมากกว่าร้อยละ ๘๐” บังหวนกลับมาพูดถึงเกาะสองว่า “เดิมคนในเกาะสองพูดภาษาไทยทั้งนั้น ไม่พูดพม่า...คนมุสลิมฝั่งพม่าอยู่ที่บ้านเหนือ ปากคลอง แมะปูเตะ บ้านควน บ้านท่านา อ่าวจีน อ่าวจาก อ่าวจากนอก อ่าวจากใน อ่าวใบ บ้านทอน มีคนไทยนับหมื่น ทรัพยากรทะเลและสวนมีมาก”

“แต่ถิ่นที่อยู่เหล่านี้ เราไม่อาจจะไปถึงได้ เพราะรัฐบาลพม่าไม่อนุญาต ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ซึ่งไม่แน่ใจว่าความปลอดภัยของใคร ของพวกเราหรือของรัฐบาลพม่า” เราคิดในใจ

บอกลาบัง แล้วเดินทางต่อ รถวิ่งกลับเกาะสอง ใจหนึ่งอยากไปต่อที่เกาะซุนตง แต่เวลาจวนมืดค่ำ ฝนยังเทมายังไม่หยุด เราจึงตัดสินใจไม่ไปซุนตง ถึงทางแยกรถนำเราไปยังอีกฟากของเกาะสอง รถวิ่งตามเส้นทางขรุขระ บางแห่งมีน้ำท่วมขัง เด็กๆ กำลังสนุกกับการเล่นน้ำที่ไหลนองตามท้องถนน รถพาเราวิ่งขึ้นไปบนวัดที่ตั้งอยู่บนเนินสูง เพื่อถ่ายภาพและเพื่อชมชุมชนที่ตั้งใหม่ตามริมฝั่งทะเลของเกาะสอง “บ้านเหล่านี้พึ่งตั้งใหม่ เป็นคนพม่า” โซบอกเราพร้อมชี้ไปยังหมู่บ้านที่อยู่เบื้องล่าง

ถ่ายภาพเสร็จ รถนำเราเข้าสู่ตลาดเกาะสอง เพื่อชื้อเสื้อผ้า แต่เสื้อผ้าที่เราเห็นส่วนใหญ่มาจากฝั่งระนองและราคาสูง โจ้จึงทนใส่กางเกงตัวเดียวตลอด ๖-๗ วัน จากนั้นรถแวะร้านหนังสือ หนังสือส่วนใหญ่เป็นภาษาพม่า เราเลือกชื้อหนังสือประวัติศาสตร์พม่า ๓ เล่ม แม้ไม่สามารถอ่าน และหนังสือ Ma Kyone Galet ของมา โอมาร์ที่กล่าวถึงแล้ว

จากนั้นรถนำเราไปยังร้านอาหาร เป็นอาหารไทย เจ้าของร้านพูดและเขียนไทยได้ แต่ไม่ทราบว่าเป็นคนระนองหรือคนเกาะสอง เราสั่งอาหารแบบไทย ๆ ร้านอาหารอยู่ไม่ไกลจากร้านโมบีดิคเรสเตอรอง (Moby Dick Restaurant) ที่เราไปกินคืนวันแรกที่พักในเกาะสอง

รถวิ่งผ่านแผ่นป้ายรณรงค์ขนาดใหญ่ ให้เกาะสองเป็นพื้นที่ปลอดยาเสพติด เห็นป้ายนี้แล้วชวนสงสัย ข้อความรณรงค์มีทั้งภาษาพม่าและอังกฤษ ข้อความภาษาอังกฤษเท่าที่จำได้ คงเขียนประมาณ “Let us free drug zone” ข้อความที่ป้ายรณรงค์สื่อความหมายอะไร เป็นข้อความประจานหรือข้อความเชิญชวน หรือทั้งสองอย่างรวมกัน ข้อสงสัยนี้กลายเป็นภาระของล่าม “โซ ที่เกาะสองมีปัญหายาเสพติดหรือไม่” “มี” โซตอบ ด้วยเหตุนี้ “Let us free drug zone” จึงเป็นทั้งสองอย่างรวมกัน--มียาเสพติดอยู่เกลื่อน พวกเราจงมาช่วยกันขจัดให้มันหมดไป ทำให้แผ่นดินของเราปราศจากยาเสพติด

0 comments:

Template by : kendhin x-template.blogspot.com