Friday, July 13, 2007

ลงทุนช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

Wednesday, 23 May 2007

ยิ่งระยะเวลาของตราสารหนี้ยิ่งสั้นก็มีความเสี่ยงน้อยลง เนื่องจากเราสามารถเปลี่ยนไปลงทุนใหม่ตามอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้เร็วๆ หรือถ้าจะมองอีกมุมหนึ่ง ก็เหมือนกับว่าเราลอยตัวไปอัตราดอกเบี้ยแทนที่จะไปติดกับอัตราดอกเบี้ยเดิมเป็นเวลานานๆ

ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนสภาพมาเป็นช่วงขาขึ้น และดูเหมือนว่าจะขี้นไปเรื่อยๆ อีกระยะหนึ่งอย่างนี้ ก็ย่อมจะมีทั้งผลประโยชน์ (สำหรับคนที่มีเงินเหลือ) และเป็นแรงกดดัน (สำหรับคนที่มีต้องกู้ยืม) ซึ่งต่างจากช่วงที่ผ่านมาที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาลงนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ และเพิ่งมาเริ่มเงยหัวขึ้นเร็วๆนี้ โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ เพราะนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ยังเชื่อว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยยังคงจะต้องขึ้นต่อไปอีก เพราะสภาวะทางเศรษฐกิจของไทยที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซี่งมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งต้องควบคุมภาวะเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ภาวะดอกเบี้ยของเราก็ยังผูกพันกับการขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกา และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยของเรายังคงไล่ตามไม่ทัน เลยทำให้หลายคนเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยยังต้องขึ้นอีก สำหรับนักลงทุนอย่างเราๆท่านๆ ก็ย่อมจะต้องระวังและหาประโยชน์สูงสุดจากช่วงนี้ โดยศึกษาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในการลงทุนในประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนใน หุ้น กองทุน และตราสารหนี้

ในประเภทแรก คือการลงทุนในหุ้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวสูงขึ้น ถ้าบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่มีการกู้ยืม ก็จะมีต้นทุนทางการเงิน คือ ภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ก็จะมีผลให้กำไรลดน้อยลง ดังนั้น ในช่วงนี้ เราถึงได้เห็นบริษัทที่มีแผนการใช้เงินเพื่อการลงทุนหันมาระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้กันเต็มไปหมด เพราะทุกคนก็รู้ว่าอัตราดอกเบี้ยกำลังปรับตัวขึ้น ในเมื่อมีแผนใช้เงินที่แน่นอนก็ต้องรีบหาเงินที่มีต้นทุนที่ยังพอรับได้ ณ ขณะนี้ไว้ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นสูงกว่านี้ ก็ถือว่าเป็นการล๊อคต้นทุนเงินในระยะยาวไว้ก่อน ในทางกลับกัน บริษัทที่มีสถานะเงินสดเหลือ ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน ก็จะได้รับประโยชน์ คือ รายได้ดอกเบี้ยรับ เพิ่มสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นก็ลองไปดูถามโบรกเกอร์ว่าบริษัทไหนที่มีสถานะเป็น Net Cash Position ก็จะรับประโยชน์ในเรื่องนี้ ส่วนหุ้นกลุ่มสุดท้ายที่ต้องจับตาดูก็คือ กลุ่มสถาบันการเงิน เพราะหุ้นกลุ่มนี้ ถ้าสามารถบริหารต้นทุนทางการเงินได้ดี ล็อคต้นทุนเงินที่จะปล่อยกู้ไว้ได้ที่ระดับต่ำ (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ให้แก่ผู้ฝากเงิน) แล้วไปปล่อยกู้ตามอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ก็จะสามารถได้กำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Interest rate spread) ที่กว้างขึ้นได้

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ลงทุนเอง พออัตราดอกเบี้ยขึ้น พวกนักเก็งกำไรที่กู้ยืมมาเล่นในบัญชีมาร์จิ้น ก็ย่อมจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น หรือ นักลงทุนก็มีทางเลือกที่จะไปลงทุนประเภทอื่นที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า แต่ก็ได้ผลตอบแทนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่คุ้มก็จะไม่ค่อยอยากเข้าไปลงทุน หรือตัดสินใจขายหุ้นออกไปเสีย แทนที่จะแบกต้นทุนดอกเบี้ย ตามทฤษฏี หุ้นก็เลยมักจะตก เมื่อดอกเบี้ยขยันขึ้นเหลือเกิน

ประเภทที่สอง สำหรับคุณๆ ที่ลงทุนในบรรดากองทุนต่างๆ ก็ย่อมจะได้รับผลกระทบในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นเหมือนกัน ถ้าเป็นกองทุนหุ้น ก็จะต้องดูเหมือนๆกับผลที่จะเกิดกับการลงทุนในหุ้นโดยตรง แต่ถ้าเป็นกองทุนที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ หรือเงินฝากด้วย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนแบบผสม หรือ กองทุนตราสารหนี้ หรือจำพวก Money Market ก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น เพราะกลายเป็นว่า ตราสารหนี้ที่กองทุนถืออยู่อาจจะด้อยค่าลง ถ้าบริหารจัดการไม่ดี (เพราะดอกเบี้ยใหม่ในตลาดสูงกว่า ที่ระดับความเสี่ยงเท่าๆกัน) ซึ่งอาจมีผลให้ราคาตลาดที่ซื้อขายกันของตราสารหนี้ลดลง ตรงนี้ กองทุนซึ่งต้องคำนวณมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (Net Asset Value – NAV) ทุกวัน ก็ต้องมีการ Mark to market คือคิดมูลค่าของกองทุนตามราคาตลาด ซึ่งถ้าดอกเบี้ยขึ้นเยอะๆ แต่ในพอร์ตมีแต่ทรัพย์สินที่มีดอกเบี้ยเก่าที่ต่ำกว่า กองทุนก็จะต้อง Mark down คือต้องปรับลดลง เหมือนกับขาดทุนนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ก็เข้าใจปัญหานี้ดี และเชื่อว่ามีผู้ลงทุนไม่น้อยที่ไม่ได้สนใจเรื่องราคาตลาด แต่อยากลงทุนเพราะอยากได้ผู้จัดการกองทุนช่วยเลือกลงทุนให้ได้อัตราดอกเบี้ยที่น่าพอใจ แล้วก็ถือไปจนครบอายุในลักษณะคล้ายๆกับการฝากเงินประจำ เพราะฉะนั้น ช่วงนี้ เราจึงได้เห็นกองทุนจำนวนพอสมควรที่ออกมาเป็นลักษณะกองทุนปิด คือไม่สนใจราคาตลาดที่เปลี่ยนแปลง เน้นแต่เพียงอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับเท่านั้น ส่วนที่ว่ากองทุนนั้นจะไปลงทุนประเภทไหน ก็มีให้เลือกไม่ว่าจะเป็นเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลให้เซฟสุดๆ หรือผสมกับหุ้นกู้ของบริษัท ฯลฯ นอกจากนี้ กองทุนเหล่านี้ก็จะเน้นการลงทุนในช่วงระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น คือ ประมาณหกเดือนถึงหนึ่งปี ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยนั่นเอง เพราะยิ่งระยะเวลาของตราสารหนี้ยิ่งสั้นก็มีความเสี่ยงน้อยลง เนื่องจากเราสามารถเปลี่ยนไปลงทุนใหม่ตามอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้เร็วๆ หรือถ้าจะมองอีกมุมหนึ่ง ก็เหมือนกับว่าเราลอยตัวไปอัตราดอกเบี้ยแทนที่จะไปติดกับอัตราดอกเบี้ยเดิมเป็นเวลานานๆ

ในด้านการลงทุนประเภทที่สาม คือ การลงทุนในตราสารหนี้ จำพวกหุ้นกู้ พันธบัตร ตั๋วเงิน ฯลฯ เรื่องที่นักลงทุนมักจะให้ความสำคัญก็คือ ความเสี่ยงที่คนที่กู้เงินเราไปแล้วไม่มีปัญญาจ่ายดอกเบี้ย หรือเงินต้น คืนให้กับผู้ให้กู้ ซึ่งก็คือผู้ลงทุนนั่นเอง โดยเฉพาะในช่วงที่ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น ถ้าขึ้นไปมากๆ ท่านที่มีหุ้นกู้ของบริษัทที่มีเครดิตไม่ค่อยดี (ซึ่งเวลาออกหุ้นกู้ หรือขอเงินคนอื่นมาใช้ ก็จะต้องเสนอเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าคนอื่น) ก็อาจจะหนาวๆร้อนๆ ว่าจะมีบริษัทจะมีเงินมาจ่ายภาระดอกเบี้ยหรือไม่ หรือเมื่อครบกำหนดจะมีเงินมาใช้หรือเปล่า

ถ้าเราไปดูเรื่องของผลตอบแทนในการลงทุนในตราสารหนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าบริษัทยังอยู่ในสถานะที่มั่นคง แต่พออัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น ก็จะทำให้หุ้นกู้ที่เราถืออยู่มีคุณค่าน้อยลง เช่น ตอนที่เข้าไปซื้อหุ้นกู้เมื่อต้นปี ได้รับอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี แต่ตอนนี้ ถ้าไปซื้อหุ้นกู้ที่ออกใหม่ อาจจะได้รับอัตราดอกเบี้ย 4.5% ต่อปี ซึ่งถ้าเกิดคุณเอาหุ้นกู้ที่มีอยู่ไปขายก่อนครบกำหนด คนซื้อก็ย่อมต้องการอัตราดอกเบี้ย 4.5% ซึ่งก็แปลว่าคุณต้องขายลดราคา หรือราคาหุ้นกู้จะปรับตัวลดลงนั่นเอง ตรงนี้ มีข้อยกเว้นนิดนึงนะครับว่า ถ้าคุณแฮปปี้กับอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับในหุ้นกู้หรือพันธบัตรที่ลงทุนไปแล้วถือไว้จนครบกำหนด ก็ไม่มีอะไรเสียหาย ในเรื่องขาดทุนที่ว่า อย่างไรก็ตาม คุณอาจจะพลาดโอกาสในการไปลงทุนใหม่ๆที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าได้ (เรียกว่า Reinvestment หรือ Interest on Interest) ก็เหมือนๆกับ การไปฝากเงินประจำช่วงยาวๆแหละครับ พอผ่านไปช่วงหนึ่งปรากฎว่า ดอกเบี้ยเงินฝากช่วงสั้นๆ เกิดเพิ่มขี้นมาจนไล่ทัน หรือแซงไป ก็จะรู้สึกเสียดายและเสียใจที่ไม่สามารถย้ายเงินไปฝากในที่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า หรือไม่มีข้อบังคับให้ฝากเงินนานๆจนขาดความคล่องตัว เพราะฉะนั้น ได้ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างนี้ ก่อนลงทุนก็ควรจะมั่นใจว่าดอกเบี้ยที่ได้รับ ได้อัตราที่สูงมากๆจนของใหม่ไล่ไม่ทัน หรือที่ได้รับสบายใจแล้ว ไม่ว่าข่างนอกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็สบายใจพอเพียงกับที่ได้รับอยู่และไม่มีปัญหาว่าอาจจะต้องขายก่อนครับกำหนด
Posted by kriengchai at 10:51 AM in Uncategorized

0 comments:

Template by : kendhin x-template.blogspot.com