Friday, December 21, 2007

เลี้ยงหอยนางรม ที่สุขสำราญ ระนอง

หอยนางรม เป็นหอยทะเลกาบสองฝา ซึ่งฝาทั้งสองมีขนาดไม่เท่ากัน มีสีน้ำตาลหรือสีเทา กาบบนจะใหญ่กว่ากาบล่าง กาบล่างมีลักษณะเป็นโค้งเว้าและเป็นส่วนที่ตัวหอยติดอยู่ ด้านที่มีเนื้อหอยฝังอยู่จะเว้าลึกลงไปคล้ายรูปถ้วยหรือจาน และยึดติดกับวัตถุแข็ง เช่น ก้อนหิน ไม้หลัก หรือเปลือกหอยที่จมอยู่ในทะเล

เมื่อพูดถึงหอยนางรม หลายคนนึกถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีชื่อเสียงในเรื่องหอยใหญ่ ซึ่งหมายถึงหอยนางรมนี่เอง ความจริงแล้วหอยนางรมพบทั่วไปบริเวณน้ำตื้นชายฝั่งทะเล ทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ รวมทั้งที่อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง
Ref: 15 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 20 ฉบับที่ 421 เทคโนโลยีการประมง

เกษตรกรรวมกลุ่มเลี้ยงหอยนางรม
เนื่องจากหอยนางรมมีคุณค่าทางอาหารสูง เนื้อในขาวสะอาด กินสดหวานมัน ไม่มีกลิ่นคาว ผู้คนนิยมบริโภค ราคาค่อนข้างแพง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงมีรายได้ดีด้วย นับเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรบ้านบางมัน หมู่ที่ 2 ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงหอยนางรมบ้านบางมัน เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยเหลือกันและกัน และรับการสนับสนุนจากสำนักงานประมงจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมาชิก 32 คน โดยมี คุณระพี น้ำจันทร์ เป็นประธานกลุ่ม

ประธานกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงหอยนางรมบ้านบางมัน กล่าวว่า สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยางพารา สวนไม้ผล เช่น มังคุด ลองกอง เงาะ เป็นต้น มีเวลาว่างจากการทำสวนก็เลี้ยงหอยนางรม เลี้ยงปลาในกระชัง บริเวณริมฝั่งทะเลใกล้ๆ บ้าน

"หอยนางรมที่เลี้ยงจากที่นี่คุณภาพดี เนื่องจากทำเลที่ตั้งเหมาะสมคือ อยู่ในพื้นที่ที่เป็นอ่าว มีภูเขาด้านหน้าเป็นแนวกันลม และกันคลื่นแรงจากทะเลได้เป็นอย่างดี บริเวณรอบอ่าวห้อมล้อมไปด้วยป่าชายเลน ป่าโกงกางที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารและเป็นแหล่งขยายพันธุ์หอยนางรมตามธรรมชาติ และที่สำคัญพื้นที่บริเวณนี้ไม่มีนากุ้งและไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเท่ากับไม่มีแหล่งน้ำเสีย ปนเปื้อนสารเคมีปล่อยลงมารบกวนการเลี้ยงหอยนางรม ทำให้หอยเจริญเติบโต อ้วน สมบูรณ์ดีและปลอดภัยจากสารพิษ" คุณระพี บอก

คุณระพีได้เล่าถึงการเลี้ยงหอยนางรมว่า ตนเองและสมาชิกหลายคนเลี้ยงหอยมานาน เกือบ 20 ปี การเลี้ยงจะเลี้ยงในแพขนาดใหญ่ เล็กตามแต่เงินทุนของแต่ละคน ในแพจะแบ่งพื้นที่เป็นห้องๆ แต่ละห้องมีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร แพใหญ่ มีกว่า 12 ห้อง แพกลาง มี 8-10 ห้อง และแพเล็กมี 8 ห้องลงมา แต่ละห้องจะเลี้ยงหอยนางรมได้ 3,000 ตัว

เลี้ยงหอยนางรมใช้พันธุ์จากแหล่งธรรมชาติ
ลงทุนน้อย รายได้ดี
ด้วยความที่ทำเลที่เลี้ยงหอยนางรม ที่ห้อมล้อมด้วยป่าชายเลน ป่าโกงกางดังกล่าวแล้วทำให้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งขยายพันธุ์หอยนางรมได้เป็นอย่างดี สมาชิกกลุ่มจึงสามารถเก็บพันธุ์หอยจากธรรมชาติมาเลี้ยงได้เอง เป็นการลดต้นทุนอีกทางหนึ่ง และเมื่อได้พันธุ์หอยมาแล้ว เกษตรกรจะนำมาร้อยเป็นพวง พวงละ 10 ตัว แต่ละพวงใช้เชือกยาว 1.5-2 เมตร การนำหอยมายึดติดกับเชือกโดยใช้ปูนซีเมนต์เป็นตัวเชื่อม
จากนั้นนำหอยนางรมที่ร้อยเป็นพวง ไปผูกบนแพไม้ไผ่ให้เต็มพื้นที่ เฉลี่ยห้องละ 300 พวง พวงละ 10 ตัว หาก 1 แพ มี 10 ห้อง ก็เท่ากับเกษตรกรเลี้ยงหอยนางรมได้ 30,000 ตัว ต่อแพ
เรื่องการดูแล ให้อาหาร ประธานกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงหอยนางรมบ้านบางมัน บอกว่า ไม่ต้องดูแลมากมาย ไม่ต้องให้อาหาร หอยนางรมจะคอยดักแพลงตอนพืช และแพลงตอนสัตว์ที่ไหลมาตามน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์เป็นอาหาร เพียงแต่ต้องคอยตรวจตราอย่าให้ขยะ ถุงพลาสติค หรืออื่นๆ ที่ไหลมาตามน้ำมาเกาะติดกับพวงหอย ทำให้หอยไม่สะดวกในการกินอาหาร ส่งผลให้หอยผอมหรือตายได้

ขายดี ตัวละ 10-15 บาท
คุณระพี กล่าวถึงการตลาดว่า การตลาดหอยนางรมไม่มีปัญหา ปัญหาที่มีคือไม่มีหอยให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด ปกติตลาดจะขายให้กับแม่ค้าในท้องถิ่นเพื่อนำมาขายตามร้านริมถนนสายระนองไปอำเภอสุขสำราญบริเวณบ้านบางมัน และอีกส่วนจะขายให้กับแม่ค้าจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะจากสุราษฎร์ธานี การขาย จะนับขายเป็นตัว ราคาตัวละ 10-15 บาท ขึ้นกับขนาดเล็กใหญ่

ท่านผู้อ่านหากมีโอกาสมาเที่ยวจังหวัดระนอง "คอคอดกระ ภูเขาหญ้า กาหยูหวาน ธารน้ำแร่ มุกแท้เมืองระนอง" ขอเชิญไปลิ้มลองหอยนางรมสดๆ เนื้อขาวสะอาด กินสดหวานมัน อร่อย ไม่มีกลิ่นคาว ไม่เหนียว และที่สำคัญปลอดภัยจากสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม

สนใจติดต่อโดยตรงที่ คุณระพี น้ำจันทร์ ประธานกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงหอยนางรมบ้านบางมัน เลขที่ 10/1 หมู่ที่ 2 ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง โทร. (086) 272-6835

0 comments:

Template by : kendhin x-template.blogspot.com