Monday, December 24, 2007

2550 ธุรกิจประมงสุดอ่วม แห่ทิ้งเรือขึ้นฝั่งหนีขาดทุน

ปี 2550 สถานการณ์ของผู้ประกอบการประมงไทย หนึ่งในอาชีพหลักของคนไทย ที่อยู่คู่กับประเทศไทย สังคมไทยมายาวนาน กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ ทั้งนี้เป็นเพราะปัจจัยลบต่างๆ ที่กระหน่ำรุมเร้าผู้ประกอบการประมง ทั้งปัญหาราคาน้ำมันที่แพง,ราคาสัตว์น้ำที่ตกต่ำ ทั้งยังประสบปัญหาภัยธรรมชาติ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลก เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อผู้ประกอบอาชีพนี้ จนขณะนี้ถือว่า กำลังอยู่ในช่วงวิกฤติที่สุด หลายรายถึงขั้นยกธงขาวยอมแพ้ ในขณะที่หลายรายยังกัดฟันสู้ โดยมีความหวังสุดท้าย คือ มาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือแม้แต่พึ่งเงินนอกระบบ ผลกระทบที่เกิดไม่เพียงกับผู้ประกอบการประมงโดยตรงเท่านั้น แต่รวมถึงภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กิจการแพปลา ห้องเย็นที่ต่างได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า จนต้องเร่งปรับตัวขนานใหญ่กับวิกฤติปัญหาที่เกิดขึ้น

โดย ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2281 23 ธ.ค. - 26 ธ.ค. 2550
หลากปัจจัยลบรุมกระหน่ำ
นายทวี บุญยิ่ง ที่ปรึกษาสมาคมผู้ประกอบการประมงแห่งประเทศไทย อดีตนายกสมาคมประมงจังหวัดระนอง และเจ้าของกิจการเรือประมง กล่าวว่า สภาวการณ์ของผู้ประกอบการประมงในขณะนี้ อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่มาก อันเป็นผลกระทบมาจากปัญหาต่างๆ โดยปัญหาหลักที่สร้างความหนักใจให้กับผู้ประกอบการประมงมากที่สุด นั่นคือ ปัญหาเรื่องราคาน้ำมัน ซ้ำร้ายในขณะนี้ราคาสัตว์น้ำที่จับได้ยังมีราคาตกต่ำ เนื่องมาจากมีสัตว์น้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งพม่าและอินโดนีเซียเข้ามาตีตลาด

นอกจากนี้ปัญหาภัยธรรมชาติ ก็กำลังกลายเป็นอีกปัญหาที่เข้ามาสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการประมงเช่นกัน เพราะไม่สามารถนำเรืออกไปจับปลาได้อย่างเต็มที่ ต้องคอยหลบพายุ ทำให้ปริมาณปลาที่จับได้มีจำนวนลดน้อยลง ทำให้เรือประมงเริ่มทยอยหยุดออกหาปลา รวมถึงปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะพายุจากทะเลอันดามัน แต่ปรากฏว่าราคาสัตว์น้ำกลับไม่ได้พุ่งสูงขึ้นแต่ประการใด แม้ว่าปริมาณปลาที่เข้าสู่ฝั่งจะลดลงถึง 40% หรือการโยกย้ายถิ่นฐานของแหล่งสัตว์น้ำอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลกล้วนแต่มีผลกระทบต่อผู้ประการประมงทั้งสิ้น

ด้านนายประพร เอกอุรุ นายกสมาคมประมงจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ตอนนี้เรือประมงในจังหวัดสงขลากว่า 7,600 ลำ ไม่สามารถทนแบกรับกับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นมานานกว่าปีอีกต่อไปไหว โดยเฉพาะเรือประมงขนาดเล็กต่างประสบปัญหาขาดทุนกว่าเดือนละ 60,000 บาท เรือประมงขนาดใหญ่ขาดทุนเดือนละไม่ต่ำกว่า 150,000-160,000 บาท ทำให้ขณะนี้เรือประมงทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่จำต้องหยุดกิจการไปแล้วประมาณ 3,400 ลำ ซึ่งการแก้ปัญหาที่ผ่านมาทางสมาคมประมง พยายามประสานไปยังสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้รัฐบาลหาแนวทางในการช่วยเหลือ แต่ปรากฏว่าผู้ประกอบการประมงไม่เคยได้รับการดูแลจากรัฐบาลแต่อย่างใด ซึ่งตอนนี้ความหวังสุดท้ายอยู่ที่รัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง ที่หวังว่าจะช่วยเข้ามาดูแลปัญหาของชาวประมงบ้าง ซึ่งตอนนี้ถือได้ว่าอยู่ในช่วงที่วิกฤติที่สุด

โร่้เงินนอกระบบต่อลมหายใจ

"ขณะนี้เรือประมงทุกลำที่ออกไปจับปลาต่างประสบปัญหาขาดทุนจนไม่สามารถที่จะดำเนินกิจการต่อไปไหว ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายพยายามที่จะหาเงินทุนเข้ามาเพื่อช่วยประคับประคองกิจการให้ดำรงต่อไปได้ แต่ปรากฏว่าปัญหาขณะนี้ คือทางธนาคารจะไม่ปล่อย้ให้กับผู้ประกอบการประมง เนื่องจากผลประกอบการของผู้ประกอบการแต่ละราย ต่างอยู่ในภาวะที่ขาดทุน จนทำให้ผู้ประกอบการต้องหาเงินทุนจากนอกระบบเข้ามาช่วยประคับประคองสถานภาพ ซึ่งจากการที่มีการประเมินในตอนนี้คาดว่า มีผู้ประกอบการประมงโดยเฉพาะผู้ประกอบการประมงขนาดเล็กและขนาดกลางเข้าไป้เงินนอกระบบแล้วกว่า 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งตามความเห็นของผมคิดว่าทางรัฐบาลน่าจะมีแนวทางในการช่วยเหลือให้เป็นรูปธรรม นอกจากเรื่องของน้ำมันม่วง หรือน้ำมันเขียวแต่อย่างเดียว แต่อาจจะมีกองทุนเกี่ยวกับการประมงเพื่อจะได้เข้ามาช่วยเหลือ และผู้ประกอบการประมงจะได้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ"นายทวีกล่าว

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการประมงที่ไม่สามารถทนแบกรับกับภาวะค่าต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้อีกต่อไปไหว ได้ทยอยนำเรือเข้ามาจอดแล้วกว่า 500 ลำ จากจำนวนเรือประมงที่จับปลาในน่านน้ำพื้นที่จังหวัดระนองที่มีกว่า 3,000 ลำ และทั่วประเทศขณะนี้ทราบว่า มีผู้ประกอบการประมงนำเรือเข้ามาจอดแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000 ลำจากจำนวนเรือประมงทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 50,000 ลำ สำหรับในส่วนของจังหวัดระนองที่ยังมีสัตว์น้ำวางจำหน่าย พบว่ากว่า 60% มาจากเรือประมงของพม่า ที่นำปลาเข้ามาขายยังฝั่งไทย เพราะได้ราคาดีกว่า ส่วนสัตว์น้ำที่จับได้จากเรือประมงไทยตอนนี้มีน้อยมาก โดยตอนนี้ผู้ประกอบการประมงต่างรอความหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น

แพปลาเริ่มทยอยปิดตัว

ด้านธุรกิจต่อเนื่องต่างก็ประสบปัญหาไม่ต่างจากผู้ประกอบการธุรกิจประมงเท่าไรนัก นายวีระ บุญราศี เจ้าของแพปลาชื่อโกตา ซึ่งเป็นแพปลาขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่จังหวัดระนอง อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง และเจ้าของกิจการแพปลาที่มหาชัย เปิดเผยว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้มีปริมาณลดลงเป็นจำนวนมาก จนส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่อเนื่อง เช่น กิจการแพปลาปัจจุบันหลายแพเริ่มทยอยปิดกิจการทั้งชั่วคราวและถาวร โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดระนองซึ่งอดีตเป็นพื้นที่ที่มีการซื้อขายสัตว์น้ำประเภทปลามากที่สุดในภาคใต้ จนทำให้มีกิจการแพปลาเกิดขึ้นกว่า 300 แพ แต่ปัจจุบันลดเหลือเพียงแค่ประมาณ 120 แพเท่านั้น และยังมีทีท่าว่าจะปิดตัวเองอีกหลายแพ หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นปัจจุบันนี้ กิจการแพปลาส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ได้ นอกจากต้องมีต้นทุนที่มากพอแล้ว ยังต้องอาศัยความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการเรือประมง ที่เข้าไปจับสัตว์น้ำในเขตพื้นที่ประเทศพม่า ซึ่งขณะนี้หลายแพต่างแย่งที่จะให้สัตว์น้ำที่เข้ามาจากพม่ามาขึ้นที่แพของตน เพื่อจะได้มีรายได้หล่อเลี้ยงแพต่อไปได้

นายชูชัย รังสิยานันท์ ประธานกรรมการ บริษัท ระนองโฟรเซ่นฟู้ด จำกัด ผู้ส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งรายใหญ่ในภาคใต้ เปิดเผยว่า ตอนนี้สถานการณ์ประมงไทยถือว่าวิกฤติมาก และเริ่มส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แปรรูปสัตว์ อาหารทะเลแช่แข็งอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ก็คงจะต้องปรับตัวมากเช่นกันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยในส่วนของตนขณะนี้ คือ การหาแหล่งวัตถุดิบสำรองจากเดิมที่ซื้อเฉพาะวัตถุดิบในเขตพื้นที่ระนองเป็นหลัก แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มไม่แน่นอน จึงได้หาแหล่งวัตถุดิบใหม่ไว้สำรองทั้งที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งขณะนี้เรือประมงที่เข้าไปจับปลาในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซียส่วนใหญ่จะขึ้นฝั่งที่นี่เกือบทั้งหมด ซึ่งก็พอที่จะมีวัตถุดิบเพียงพอรองรับภาคการผลิตได้ในระดับหนึ่ง แต่หากต้องการขยายฐานธุรกิจให้กว้างยิ่งขึ้น

ขณะนี้ทางบริษัทเตรียมที่จะขยายตลาดอาหารทะเลแช่แข็งเข้าไปยังตลาดในประเทศจีน จึงต้องหาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มขึ้นอีก ทั้งจากฝั่งอ่าวไทย รวมถึงในประเทศที่มีการทำประมงมาก เช่น ประเทศโอมาน หรือเยเมน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของฐานวัตถุดิบสำรองที่จำเป็นต้องมองหาไว้ นอกจากนี้ในส่วนของฐานการผลิตใหม่ๆ ขณะนี้เหล่าบรรดาผู้ประกอบการต่างได้มีการพูดคุยกันมากเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศเวียดนามซึ่งมีวัตถุดิบประเภทสัตว์น้ำเป็นจำนวนมาก หากประเทศไทยยังประสบปัญหาเช่นนี้ก็อาจจะมีผู้ประกอบการบางส่วน อาจจะเข้าไปสร้างฐานใหม่ ซึ่งตนก็เคยเดินทางเข้าไปดูพื้นที่แล้วเช่นกัน ซึ่งยอมรับว่าน่าสนใจมาก แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นตัดสินใจที่จะขยายฐานเข้าไป เนื่องจากในไทยที่มีอยู่ตอนนี้ก็ยังเพียงพอที่จะขยายฐานตลาดได้อีกมาก

ปัญหาความอยู่รอดของผู้ประกอบการประมงและธุรกิจต่อเนื่อง วันนี้ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ตราบใดที่ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลัก ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงและคาดกันว่า จะไม่มีโอกาสเห็นราคาน้ำมันถูกลงอีกแล้ว หากไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล ความอยู่รอดจึงขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเอง ส่วนรายเล็กคงรอดยาก

0 comments:

Template by : kendhin x-template.blogspot.com