Friday, October 5, 2007

ค้าชายแดนแม่สอดอ่วม สารพัดปัญหารุมเร้า หวั่นสิ้นปียอดต่ำหมื่นล.

หากกล่าวถึงด่านการค้าชายแดนไทย-พม่า ปัจจุบันมี 3 ด่านหลักที่มีการทำการค้าเป็นล่ำเป็นสัน คือ ด่านการค้าชายแดนด้านจังหวัดระนอง-เกาะสอง ด่านการค้าชายแดนแม่สอด(จังหวัดตาก)-เมียวดี และด่านการค้าแม่สาย(จังหวัดเชียงราย)-ท่าขี้เหล็ก และบรรดาด่านการค้าทั้ง 3 ด่านดังกล่าว การค้าด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับจังหวัดเมียวดีของพม่า ดูจะเป็นด่านที่เผชิญปัญหามากที่สุดในรอบปีนี้ ส่งผลให้ยอดการค้า อยู่ในภาวะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างเห็นได้ชัด

ครึ่งปีแรกยอดรูด 20%
นายอำพล ฉัตรไชยา ฤกษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวถึงสถานการณ์การค้าชายแดนไทย-พม่า ผ่านด่านศุลกากร แม่สอด-เมียวดี อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2550 ว่า ตัวเลขการค้าลดลงกว่า 20 % เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 มูลค่าการส่งออกตกลงเหลือเดือนละ 600-700 ล้านบาท จากที่เคยส่งออกเดือนละ 1,000-1,300 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขการค้าลดลงไปแล้ว 1,600 ล้านบาท และแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2550 ยังไม่มีทีท่าว่าจะกระเตื้องขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง หรือมีสิ่งบอกเหตุที่ทำให้สถานการณ์การค้าดีขึ้น

สาเหตุหลักที่ทำให้ตัวเลขส่งออกการค้าชายแดนลดลงมาจาก 5 ปัจจัยหลัก คือ 1.เงินจ๊าตพม่าตกลงเหลือเพียง 100 จ๊าต แลกเงินบาทได้เพียง 2.80 บาท(อัตราแพงเปลี่ยนในช่วงครึ่งปีแรก) ทำให้ดูเหมือนว่า สินค้าไทยราคาแพง 2.สินค้าไทยในพม่ากำลังถูกประเทศจีนเข้าไปตีตลาด ซึ่งมีสินค้าลอกเลียนแบบ และราคาสินค้าจีนถูกกว่าสินค้าไทย 20-30 % ทั้งๆที่คุณภาพสู้ไทยไม่ได้ แต่ชาวพม่า เห็นว่าราคาถูกกว่า 3.พม่ามีการจัดระเบียบการค้าชายแดนและมีการเข้มงวด รวมไปถึงการจับกุมสินค้าไทย และยังมีการจับกุมพ่อค้าพม่าที่สั่งซื้อสินค้าจากไทย 4.เมื่อสะพานมิตรภาพไทย-พม่า มีการ ชำรุด มีรอยเลื่อนเคลื่อนตัว ต้องมีการซ่อมแซม กรมทางหลวงสั่งห้ามรถบรรทุกผ่าน จึงต้องมีการทยอยขนสินค้าลงรถบรรทุกเล็ก ส่งผลให้ต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้น และ 5. ปัญหาของชนกลุ่มน้อย ที่ยังมีการต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลตามแนวชายแดน ปัจจัยที่กล่าวว่าล้วนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างสูงต่อตัวเลขการส่งออกสินค้าไปพม่า

ปิด19ท่าเรือฉุดยอดการค้า
ขณะที่การค้าชายแดนแม่สอด-เมียวดีในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ผ่านมาเกือบ 3 เดือน ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น แถมเจอปัญหาใหม่ซ้ำเติมเข้าไปอีก ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา ฝ่ายปกครองตาก(แม่สอด)-ด่านตรวจคนเข้าเมือง(ต.ม.) ตาก(ด่านแม่สอด) ทำการปิดจุดผ่อนผันการค้า 19 ท่าเรือตามแนวชายแดน ไทย-พม่า แม่สอด-เมียวดี โดยให้เหตุผลว่า เป็นมาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองและปัญหาอาชญากรรม

พ.ต.อ.ทัศวัฒน์ บุญญาวัฒน์ ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองตาก(ด่านแม่สอด) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2550 เป็นต้นไป ฝ่ายปกครองจังหวัดตากและด่าน ตรวจคนเข้าเมือง(ตม.)ตาก จะปิดจุดผ่อนผันการข้ามแดนตามช่องทางท่าเรือขนส่งสินค้า ริมแม่น้ำเมย ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ทั้ง 19 แห่ง ตามชายแดนไทย-พม่า แม่สอด-เมียวดี ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองแม่สอดและ ด่าน ต.ม.จะไม่ออกบัตรข้ามแดนให้บุคคลที่จะข้ามแดนทางช่องทางท่าเรือ โดยจะอนุญาตให้ทำบัตรผ่านแดนและเข้า- ออก ช่องทางสะพานมิตรภาพไทย-พม่าเพียงแห่งเดียว
ทั้งนี้เป็นไปตามมติที่ประชุม การจัดระเบียบชุมชนเพื่อให้เกิดความมั่นคงกับประชาชนคนไทยตามแนวชายแดน เพราะต้องการควบคุมและตรวจสอบบุคคลต่างด้าว ที่เข้า-ออกในประเทศ โดยการจัดทำบัตร ถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อการควบคุมและตรวจสอบได้ง่าย หากบุคคลดังกล่าวไปก่อปัญหาในประเทศ ประกอบกับตามท่าเรือเป็นจุดล่อแหลมของการลักลอบเข้าเมือง เพื่อไปขายแรงงานในพื้นที่ชั้นในของไทย เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อปี 2540 ได้มีการผ่อนผันให้เปิดช่องทางเข้า- ออก ชายแดน ตามท่าเรือเพื่อให้ประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง ได้เดินทางไป-มาหาสู่กัน เพราะพม่ามีการปิดชายแดนและไม่ให้ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ดังนั้นฝ่ายไทยจึงเปิดท่าเรือและเมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ มีการข้ามแดนอย่างถูกต้องทางด่านถาวร สะพานมิตรภาพไทย-พม่า จึงต้องปิดการข้ามแดนในจุดอื่นๆ เช่น ท่าเรือ อย่างไรก็ตาม หากมีการข้ามแดนมาอย่างถูกต้องทางสะพานมิตรภาพฯ ประชาชนก็สามารถไปทำธุรกิจหรือประกอบกิจกรรมตามช่องทางอื่นๆได้ปกติ

นายสุชาติ สุวรรณกาศ นายอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก(นายชุมพร พลรักษ์) ได้สั่งปิดไม่ให้มีการทำบัตรผ่านแดน แก่ผู้ที่ข้ามมาทางท่าเรือ ตามข้อเสนอของต.ม.ตาก และมติที่ประชุมคณะกรรมการการจัดระเบียบชุมชนชายแดน โดยอนุญาตให้ข้ามแดนได้เฉพาะช่องทางสะพานมิตรภาพฯเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นการให้ความร่วมมือกับฝ่ายพม่า ที่ต้องการ ควบคุมการเก็บภาษีสินค้า และที่สำคัญคือ การป้องกันปัญหาความมั่นคงและการก่ออาชญากรรมข้ามแดน ที่จะสามารถควบคุมได้ และตรวจสอบได้รวดเร็วแก้ไขปัญหาได้ฉับไว เนื่องจากการข้ามแดนทางช่องทางที่ถูกต้องนั้น ทั้งฝ่ายไทยและพม่า จะควบคุม เอกสาร การพิมพ์ลายนิ้วมือ ถ่ายรูป หากบุคคลใดข้ามแดนแล้วไม่กลับ ก็จะติดตาม กลับได้ ตามเอกสารหลักฐานที่ข้ามแดน และ

ฝ่ายปกครองยืนยันว่า การปิดท่าเรือ ไม่ให้มีการข้ามแดนของบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับการทำการค้าขายชายแดน โดยพ่อค้าสามารถทำการค้าได้อย่างปกติ โดยทางสะพานมิตรภาพฯ หรือเมื่อข้ามแดนมาแล้วก็สามารถไปติดต่อการค้าช่องทางท่าเรือก็ได้ และจะไม่กระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจตามท่าเรือขนส่ง สินค้า

นายเสรี ไทยจงรักษ์ นายด่าน ศุลกากรแม่สอด กล่าวว่า ด่านศุลกากร มีนโยบายส่งเสริมการค้าชายแดน ส่วนเรื่องการปิดท่าเรือและไม่ทำบัตรผ่านแดนช่องทางท่าเรือนั้น ด่านศุลกากรไม่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของฝ่ายปกครองและ ต.ม. และยืนยันว่าด่านศุลกากรเปิดจุดผ่อนปรนท่าเรือ เพื่อส่งเสริมการค้า เพื่อให้เกิดรายได้ การปิดท่าเรือเป็นเรื่องของการปิดเฉพาะห้ามบุคคลข้ามแดนในช่องทางท่าเรือสินค้าเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าปิดด่านหรือปิดเส้นทางการค้าสินค้าข้ามแดน

นายสุชาติ ตรีรัตนวัฒนา ประธานที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและด่านตรวจคนเข้าเมืองตาก(แม่สอด)ปิดท่าเรือขนส่งสินค้าริมแม่น้ำเมย ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่มีอยู่ 19 แห่งว่า การปิดท่าเรือในวันที่ 20 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา จะกระทบต่อการค้าชายแดนอย่างมาก เชื่อว่าตัวเลขการส่งสินค้าจะลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นนโยบายของภาครัฐ ภาคเอกชนก็ต้องปฏิบัติตาม แต่รัฐก็ต้องดูแลปัญหาความเป็นอยู่และความเดือดร้อนของประชาชนทางด้านการค้า ที่ต้องเสียหายและเสียรายได้ ที่เคยได้รับ

การปิดท่าเรือไม่ทำบัตรอนุญาตผ่านแดนทางท่าเรือของภาครัฐให้กับบุคคลข้ามแดนไทย-พม่า โดยรัฐให้เหตุผลว่าป้องกันแรงงานอพยพนั้น เป็นเหตุผลที่ยังไม่เพียงพอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะไปเพิ่มความเข้มงวดเส้นทาง คมนาคมมากกว่า เช่นเพิ่มจุดตรวจและกำลังเจ้าหน้าที่ด่านตรวจตามเส้นทางจากชายแดนสู่จังหวัดและพื้นที่ชั้นใน ไม่ใช่มาปิดช่องทางท่าเรือ ซึ่งจะเกิดผลกระทบทางการค้าและเศรษฐกิจและวิถีชีวิตชาวบ้าน 2 ฝั่งริมแม่น้ำเมย ที่ในอดีตกว่า 40-50 ปีก่อน ทำการค้าระหว่างไทย-พม่า ตามรูปแบบชาวบ้านท้องถิ่น 2 ฝั่งเมย หากปิดท่าเรือก็เท่ากับปิดกั้น วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน ซึ่งในเรื่องนี้ทางหอการค้าจังหวัดตาก จะดำเนินการช่วยเหลือประชาชนและพ่อค้าที่เดือดร้อนจากการปิดท่าเรือ หากได้รับการร้องขอและประสานกับภาครัฐเพื่อหาทางออกให้ชาวบ้านและพ่อค้าต่อไป

ประท้วงในพม่ากระทบค้าชายแดน
ไม่เพียงแต่การงดทำบัตรผ่านแดนผ่านท่าเรือดังกล่าวเท่านั้นที่ส่งผลกระทบการค้าชายแดน แต่ยังมีอีกปัญหา คือ การประท้วงรัฐบาลทหารพม่าของคณะสงฆ์และประชาชนชาวพม่าในกรุงย่างกุ้ง ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าชายแดนด้านอำเภอแม่สอดแล้ว โดยนายจิระศักดิ์ ไพบูลย์ธรรมโรจน์ ประธานชมรมพ่อค้าชายแดนไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระสงฆ์และประชาชนหลายหมื่นคนได้เดินประท้วงรัฐบาลทหารพม่า และได้เกิดความวุ่นวายในพม่าและมีแนวโน้มเพิ่มทวีความรุนแรงขึ้นว่า เหตุการณ์ประท้วงในพม่า เริ่มส่งผลกระทบกับการค้าชายแดน พ่อค้าพม่าเริ่มลดปริมาณการสั่งซื้อสินค้าจากพ่อค้าไทย ทั้งการสั่งตรงจากส่วนกลางและการสั่งซื้อจากชายแดนแม่สอด เนื่องจากพ่อค้าพม่ามองว่าสินค้าที่สั่งซื้อไปเป็นจำนวนมากจะขายไม่ได้ ประกอบกับหากเก็บสินค้าหรือสั่งซื้อจำนวนมากไปเก็บไว้ จะไม่ปลอดภัยเพราะหากเหตุการณ์ยังไม่สงบ อาจเกิดจลาจลในเมืองหลวงและเมืองสำคัญ มีการปล้นสดมภ์สินค้า ทำให้ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา ตัวเลขสินค้าไทยไปพม่าลดลงกว่า 60-65 % กระทบการค้าชายแดนอย่างรุนแรงและอาจจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ขณะนี้พ่อค้าชายแดนและผู้ประกอบการต่อเนื่องจากการค้าชายแดนไทย-พม่า กำลังได้รับผลกระทบอย่างมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ประท้วงในพม่า และการที่ฝ่ายไทยยกเลิกการทำบัตรผ่านแดนบริเวณท่าเรือขนส่งสินค้า 19 แห่ง รวมไปถึงทหารพม่ามีการเข้มงวดสินค้าไทย มีการตั้งด่านตรวจสินค้าบริเวณเส้นทางจากชายแดน เมียวดี-กอกาเรก-ผาอัน-กรุงย่างกุ้งและเมืองหลวงเนปิตอ ทำให้สินค้าไทยมีปัญหาการขนส่งและเข้าเมือง นับเป็นผลกระทบต่อธุรกิจการค้าชายแดนทั้งสิ้น

ด้านค่าเงินจ๊าตพม่า อ่อนค่าลงอย่างมากจนแทบจะไม่มีราคา ปัจจุบันมีอัตราการแลกเปลี่ยนกับเงินบาทไทย 100 จ๊าตต่อ 2 บาทเศษเท่านั้น ตัวเลขดังกล่าวไม่มีความมั่นคงทางการค้าชายแดน ประกอบกับรัฐบาลทหารพม่าอาจจะประกาศยกเลิกเงินจ๊าตเก่า ปัญหาดังกล่าวเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องเป็นระบบในพม่า ทั้งน้ำมันราคาแพง สินค้าแพง และเริ่มขาดตลาด จากการที่พ่อค้าสั่งซื้อน้อยลง รวมถึงปัญหาข้างต้นที่กล่าวมา

แหล่งข่าวจากพ่อค้าชายแดนรายหนึ่ง กล่าวว่า ตนเองมองเหตุการณ์ประท้วงในพม่าของพระสงฆ์และประชาชนว่า ขณะนี้กำลังเหมือนปลาที่ถูกต้อนเข้าคอก ทหารพม่า หรือ SPDC ปล่อยให้มีการประท้วง จากนั้นเชื่อว่า จะมีการสร้างสถานการณ์ที่รุนแรงและทหาร จะประกาศภาวะฉุกเฉินปิดล้อมจับกุมผู้ชุมนุม โดยใช้กำลังและอาวุธปราบกลุ่มผู้ประท้วงทั้งหมด โดยไม่เว้นพระสงฆ์ ซึ่งอาจจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก

ทั้งนี้จากข้อมูลของหอการค้าจังหวัดตาก ชี้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 เชื่อว่าตัวเลขการส่งออกสินค้าชายแดนไทย-พม่า ทางด่านศุลกากรแม่สอด จะลดลงอย่างมากประมาณ 40-50 % จากเดิมที่เคยมีตัวเลขส่งออกเดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะเหลือประมาณ 500-600 ล้านบาท นับแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2550 เนื่องจากปัจจัยลบหลายประการ เช่น 1.ปัญหาการเมืองในพม่ามีการชุมนุมประท้วงและน้ำมันราคาแพง 2.พม่าเพิ่มมาตรการเข้มงวดสินค้าข้ามแดน 3.การยกเลิกทำบัตรผ่านแดนที่ท่าเรือขนส่งสินค้า 4.ค่าเงินจ๊าตตกต่ำ ทำให้หวั่นว่ายอดการค้าชายแดนปี 2550 ด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อาจจะต่ำกว่าหมื่นล้านบาท หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

0 comments:

Template by : kendhin x-template.blogspot.com