Tuesday, August 14, 2007

เหนือฟ้ายังมีฟ้า

โลกในมุมมองของ Value Investor - ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร 14 สิงหาคม 2550 Ref : www.thaivi.com

ผมชอบลงทุนในบริษัทที่ดีเยี่ยมหรือดีที่สุดในอุตสาหกรรม ยิ่งเป็นบริษัทที่เหนือกว่าคู่แข่งมากประเภทที่เรียกว่า Dominant Firm หรือบริษัทที่สามารถ "ครอบงำ" อุตสาหกรรมหรือคู่แข่งอื่น ๆ ได้ ผมก็จะยิ่งชอบ เพราะบริษัทประเภทนี้จะมีความสามารถในการแข่งขันสูง มีกำไรที่ดี ความเสี่ยงทางธุรกิจจะต่ำ และถ้าบริษัทมีการเติบโตที่ดีและมีราคาหุ้นที่ถูกด้วยแล้วละก็ การซื้อหุ้นดังกล่าวแล้วถือเก็บไว้ยาวนานก็มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมโดยที่เราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย



แต่การเป็นบริษัทที่โดดเด่นแทบจะสามารถครอบงำธุรกิจได้นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะไม่มีความเสี่ยงเลย บริษัทอาจจะไม่มีหรือมีการคุกคามจากคู่แข่งน้อยมากเพราะศักยภาพทางธุรกิจของคู่แข่งอาจจะไม่สามารถเทียบกับบริษัทได้เลย แต่บริษัทอาจจะมีการคุกคามจาก "รัฐ" ทั้งในทางตรงและทางอ้อมที่ทำให้ยอดขายและ/หรือกำไรของบริษัท ถดถอยลงซึ่งจะทำให้มูลค่าของหุ้นลดลงได้ ดังนั้น คนที่ลงทุนในหุ้นประเภท Dominant Firm จะต้องคอยติดตามดูว่าบริษัทอาจจะกำลังโดน "อำนาจรัฐ" เล่นงานหรือเปล่ามากยิ่งกว่าการคุกคามจากคู่แข่ง

อำนาจรัฐนั้นมาได้จากหลาย ๆ ทางเช่น ผ่านทางกฎหมายต่อต้านการผูกขาด กฎหมายควบคุมราคาสินค้า กฎหมายเกี่ยวกับอาหารและยา กฎหมายเกี่ยวกับการค้าปลีกค้าส่ง กฎหมายผังเมือง กฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาและเผยแพร่ข่าวสาร เรื่องของการให้สัมปทานแก่เอกชน และอื่น ๆ อีกร้อยแปด การบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้น บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ยุติธรรมและมีเหตุผลเพื่อปกป้องผู้บริโภคและสังคมโดยรวม แต่บ่อย ๆ ครั้งก็เป็นสิ่งที่ไม่ใคร่จะมีเหตุผลที่ดีนักและขัดกับแนวปฏิบัติสากล ซึ่งทำให้บางครั้งเราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าความเสี่ยงของบริษัทที่เราวิเคราะห์นั้นใกล้เคียงกับความเป็นจริงหรือเปล่า เพราะเราวิเคราะห์ได้เฉพาะสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลและมีแนวปฏิบัติในระดับสากลเท่านั้น

ลองมาดูเรื่องของการคุกคามบริษัท Dominant Firm ในต่างประเทศก่อนที่จะพูดถึงกิจการในประเทศไทย ตัวอย่างเช่นในกรณีของ ไมโครซอฟท์ นี่คือบริษัทที่ครอบงำโปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์กว่า 90% ทั่วโลก ไมโครซอฟท์ถูกรัฐบาลในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปเล่นงานในหลาย ๆ เรื่องส่วนใหญ่จะผ่านกฎหมายต่อต้านการผูกขาด อีกกรณีหนึ่งก็คือโค๊กซึ่งมีฐานะทางการตลาดที่โดดเด่นทั่วโลก แต่ก็ถูกต่อต้านเกือบทุกแห่งเช่นเดียวกันโดยส่วนใหญ่เน้นไปที่การถูกโจมตีว่าเป็นเครื่องดื่มที่ทำลายสุขภาพ ดังนั้นจึงถูกห้ามขายในสถานที่ต่าง ๆ เช่นตามโรงเรียนเป็นต้น

ในเมืองไทยเองนั้น ผมคิดว่าการคุกคามจากรัฐมีค่อนข้างมาก และบ่อยครั้งผมยังไม่ใคร่เห็นเหตุผลที่ดี ลองไล่ดูเรื่องที่เคยเป็นข่าวและเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่แล้วเป็นปกติ เริ่มจากเรื่องแรกที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็คือ การควบคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในความเห็นผมคิดว่ารายชื่อของสินค้าที่ต้องดูแลและควบคุมนั้นดูเหมือนว่าจะค่อนข้างเก่าและเกิดขึ้นนานมากสมัยที่สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ "ขาดแคลน" สินค้าอุปโภคบริโภคเนื่องจากเรายังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอและมีผู้ขายสินค้าน้อยราย ดังนั้นเราจึงมักจะรู้สึกว่ามีรายชื่อสินค้า "แปลก ๆ" ที่ทางการต้องดูแล จับตามองหรือควบคุม ในขณะที่ในปัจจุบันนี้ ผมคิดว่าเมืองไทยมีการผลิตและขายสินค้าจำเป็นและไม่จำเป็นเกือบทุกชนิดมากเกินพอที่ทำให้เราแทบไม่จำเป็นต้องควบคุมราคาสินค้าเลย เพราะตลาดจะเป็นคนที่กำหนดราคาสินค้าที่พ่อค้าจะขายได้

ช่วงระยะหลัง ๆ โดยเฉพาะที่มีกระแสของการ "ต่อต้านทุนนิยมและต่างชาติ" เราก็เริ่มเห็นอำนาจรัฐที่จะเริ่มคุกคามบริษัทที่มีอำนาจทางการตลาดสูง เช่นในกลุ่มของการค้าปลีกสมัยใหม่หรือ Modern Trade ซึ่งนอกจากจะชะลอการขยายตัวแล้วก็ยังพยายามกำหนดกฎเกณฑ์การตั้งราคาซื้อและขายสินค้าเพื่อลดอำนาจทางการตลาดหรือกำไรของกิจการที่โดดเด่นเหล่านั้น

การแทรกแซงทางธุรกิจโดยอ้างหรืออิงปัญหาสังคมและสุขภาพก็เริ่มมีมากขึ้นและนี่ก็เป็นการคุกคามที่เรามักจะคาดไม่ถึงเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น มีความพยายามที่จะกำหนดเวลาในการออกอากาศรายการทีวีตามการจัดเรทรายการต่าง ๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงรายได้และกำไรของสถานีคงลดน้อยลง มีการพูดถึงการควบคุมการโฆษณาขนมสำหรับเด็กเพราะเห็นว่าเด็กปัจจุบันมีปัญหาโรคอ้วน คนที่เสนอความคิดเองคงคิดว่าถ้าลดการโฆษณาลงจะทำให้เด็กไทยอ้วนน้อยลง แต่ที่น่าทึ่งมากกว่าก็คือ มีข่าวเรื่องสุขภาพกับการกินเรื่องหนึ่งบอกว่าน่าจะมีการเก็บภาษีน้ำจิ้มสุกี้เนื่องจากเป็นอาหารรสจัดเป็นผลเสียต่อสุขภาพ คิดดูแล้ว ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง ต่อไป เวลากินอาหารนอกบ้านคนไทยคงต้องเลิกขอน้ำปลาพริกขี้หนู เพราะถ้าร้านไหนจัดให้อาจจะต้องเสียภาษีเพิ่มเพราะเป็นน้ำจิ้มที่มีรสจัดทำลายสุขภาพ

การคุกคามต่อธุรกิจจากอำนาจรัฐนั้น แนวโน้มมักจะเกิดสูงกว่าในช่วงที่ประเทศไม่ได้อยู่ในภาวะที่เป็นประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งซึ่งทำให้คนใช้อำนาจไม่ต้องสนใจเรื่องความเห็นของประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงมากนัก เช่นเดียวกัน ในช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ก็มักจะมีแนวโน้มที่จะพยายามสร้างกฎเกณฑ์ควบคุมธุรกิจและเพิ่มบทบาทของรัฐโดยคิดว่านั่นเป็นวิธีที่จะจัดสรรทรัพยากรของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพกว่า ในทั้งสองกรณี บริษัทที่มีแนวโน้มที่จะถูกกระทบก็คือธุรกิจที่โดดเด่นและมีอำนาจทางการตลาดสูง และนี่คือความเสี่ยงที่สำคัญของบริษัทที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้น เวลาวิเคราะห์หุ้นโดยเฉพาะ Super Stock นั้นให้นึกถึงสุภาษิต "เหนือฟ้ายังมีฟ้า" เอาไว้ด้วย

0 comments:

Template by : kendhin x-template.blogspot.com