Monday, June 2, 2008

Green Mirror...ก๊าซธรรมชาติ supply กับ demand

Ref: นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2551
ในอนาคต สงครามโลกอาจมิได้มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งด้านลัทธิการเมืองการปกครองอีก ต่อไปแล้ว แต่จะมีสาเหตุเริ่มต้นมาจากวิกฤติการณ์พลังงาน เนื่องจากปริมาณน้ำมันสำรองลดลง ราคาน้ำมันแพงขึ้น ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดได้ง่ายๆ ทุกวันนี้ประเทศใหญ่ประเทศน้อยต่างก็พยายามที่จะขยับขยายหาทางออกกันขวัก ไขว่ ในขณะที่ renewable energy เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก็ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมนัก ในขณะที่พลังงานนิวเคลียร์ก็ซ่อนไว้ด้วยมหันตภัยทำลายมนุษยชาติ และโลกก็ยังร้อนเอาๆ จนภูมิอากาศปรวนแปรไปหมด ทางออกที่ดูเหมือนจะพึ่งพาได้มากที่สุดในเวลานี้คือ ก๊าซธรรมชาติ หรือ natural gas


ธรรมชาติของก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติคืออะไรกันแน่
ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่เกิดร่วมกับน้ำมันปิโตรเลียม มีคุณสมบัติที่เบากว่าอากาศ มีก๊าซไฮโดรคาร์บอนผสมกันอยู่ 2-3 ชนิด คือ มีเทน (methane), โปรเพน (propane), บูเทน (butane) โดยก๊าซมีเทนเป็นส่วนผสมหลักประมาณ 60% ก๊าซมีเทนเป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟเผาไหม้ได้สะอาด ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเพียง 50% ของที่เกิดจากน้ำมันเบนซินและดีเซล มีฝุ่นผงออกมาน้อยกว่า และเกือบไม่มีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดฝนกรดเลย พูดง่ายๆ คือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า และก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยกว่าน้ำมันมาก

มนุษย์โลกเริ่มหันมาสนใจใช้ก๊าซธรรมชาติเมื่อไม่นานมานี้ ก่อนหน้านี้เราจะเผาทิ้งไปหน้าหลุมขุดเจาะเมื่อดึงน้ำมันขึ้นมา สาเหตุสำคัญที่เราไม่เอามาใช้ก่อนหน้านี้ เพราะก๊าซธรรมชาติเป็นก๊าซเบากว่าอากาศ ทำให้กักเก็บยากและขนส่งไปยังที่ต่างๆ ได้ลำบาก จำเป็นต้องวางท่อส่งก๊าซจากแหล่งกำเนิดข้ามแผ่นดินข้ามทะเลไปยังผู้ใช้ ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิและความดัน และเสี่ยงต่อการรั่วไหล การระเบิด และการก่อการร้าย ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น นอกจากจะส่งก๊าซทางท่อได้แล้ว เรายังอาจจัดส่งเป็นก๊าซอัดในถังความดัน หรือ compressed natural gas (CNG) และทำเป็นก๊าซเหลวในถังแช่เย็น liquefied natural gas (LNG) CNG จะเหมาะกับการใช้กับยานยนต์ เพราะนอกจากจะราคาถูกกว่าน้ำมันแล้ว ยังมีค่าออกเทนสูงกว่าด้วย ส่วน LNG เหมาะกับการขนส่งระยะไกลทางเรือเพราะต้องแช่เย็น

ในแง่ของโลกร้อน หากปล่อยทิ้งมีเทนในก๊าซธรรมชาติไม่นำมาใช้ มีเทนจะลอยขึ้นสู่บรรยากาศกลายเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ดูดความร้อนในบรรยากาศ ได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 4 เท่า แต่ด้วยปริมาณที่น้อยกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มาก จึงไม่มีการพูดถึงกันมากนัก ฉะนั้นการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงจึงก่อให้เกิดผลสามต่อ คือ ทดแทนน้ำมัน ลดคาร์บอนไดออกไซด์ และลดมีเทนที่จะลอยขึ้นสู่บรรยากาศทำให้โลกร้อน

supply และ demand ของโลก
แหล่งก๊าซ การสำรวจขุดเจาะ และปริมาณสำรอง

คาดว่าทั่วโลกมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติอยู่มากพอควร พบได้ทั้งบนบกและในทะเล ที่สำรวจได้ในปัจจุบันสามารถใช้ได้อีก 70 ปี แต่ข้อมูลที่ไม่เผยแพร่นักระบุว่า ยังมีก๊าซธรรมชาติซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ อีกมากทีเดียว ประมาณว่าจะมีพอให้ใช้ไปอีกถึง 120 ปี ในอัตราที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จึงสนองความต้องการของมนุษย์ได้อีก 2-3 ชั่วคน แต่เนื่องจากก๊าซธรรมชาติ เป็น non-renewable คือหมุนเวียนคืนรูปไม่ได้เช่นเดียวกับน้ำ ลม แสงอาทิตย์ สักวันหนึ่งก็จะต้องเหือดหายไปเช่นเดียวกับน้ำมัน ซึ่งเราผู้ใช้น้ำมันส่วนใหญ่ก็ยังหวังว่าคงจะมีอะไรเข้ามาทดแทน ให้เรามีความสุขต่อไปได้อีกชั่วกัลปาวสาน

แหล่งก๊าซธรรมชาติใหญ่ที่สุดหนีไม่พ้น พื้นที่แถบตะวันออกกลาง แต่ก็ยังมีกระจัดกระจายอยู่อีกหลายแห่งทั่วโลก แหล่งที่นับว่าใหญ่ได้แก่ ในทะเลเหนือของเกาะอังกฤษ

ในประเทศที่ชื่อเรียกยากๆ อย่าง Kazakhstan, Turkmenistan ในทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอลในเขตพม่า และแม้แต่ในทะเลอ่าวไทยของเราถ้าสำรวจดีๆ ก็อาจจะมีอยู่มิใช่น้อย ที่น่าสนใจคือ ในปัจจุบันที่เกิดน้ำแข็งละลายที่ขั้วโลกจากภาวะโลกร้อน กำลังจะเผยให้เห็นแผ่นดินที่ซ่อนขุมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไว้อย่างมหาศาล ประเทศที่มีอาณาบริเวณอยู่รอบๆ ทะเล Arctic กำลังพยายามอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนกันเป็นการใหญ่ หวังที่จะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส (ของตนเอง) อีกไม่นานเราคงจะได้ยินข่าวการแย่งชิงพื้นที่ในเรื่องนี้กันบ้าง

หันกลับมาพูดถึงเรื่องใกล้ตัว ไม่ใกล้ไม่ไกลประเทศไทยเรานี้เอง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พม่ากลายเป็นสาวเนื้อหอมที่มีหลายประเทศมากลุ้มรุมเอาใจ ทั้งๆ ที่มีกลิ่นฉาวโฉ่ในเรื่องเผด็จการและคอร์รัปชั่น และยังล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังผงาดอยู่ได้เพราะมีแหล่งก๊าซ ธรรมชาติขุมใหญ่ ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ คือ ไทย จีน อินเดีย บังกลาเทศ กำลังแย่งกันเอาใจขอซื้อก๊าซจากพม่ากันขวักไขว่ พม่าได้ปฏิเสธบังกลาเทศไปแล้วอย่างไม่ไยดี และได้ตกลงร่วมทุนกันอินเดียในการขุดเจาะแหล่งก๊าซหลุมใหม่ในอ่าวเบงกอล ในขณะเดียวกันพม่าก็กำลังจะขายก๊าซให้กับจีน มีการสร้างท่อส่งก๊าซแยกเป็น 2 แนวไปให้ทั้งจีนและอินเดีย ส่วนไทยก็ไม่น้อยหน้า ได้สัญญาซื้อก๊าซกับพม่าเพิ่มขึ้นและกำลังขยายท่อส่งก๊าซออกไปจากแนวเดิม ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่หนุนหลังพม่าให้ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร แม้แต่ UN และไม่ตั้งใจที่จะหยิบยื่นประชาธิปไตยให้กับประชาชน และยังกลั่นแกล้งชนกลุ่มน้อยอยู่เป็นว่าเล่น โดยที่คนในรัฐบาลทหารซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จได้รับผลประโยชน์มหาศาลจากการขาย ก๊าซธรรมชาติและกำลังกอบโกยกันอย่างสนุกสนาน

ปริมาณความต้องการ

ในสถานการณ์โลกปัจจุบัน ความต้องการก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวตามอัตราที่น้ำมันแพงขึ้น เพราะก๊าซธรรมชาติมีราคาถูกกว่าน้ำมันมาก นอกจากนั้นยังสะอาดกว่าและมีปริมาณสำรองมากกว่า จีนและอินเดียซึ่งเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ที่กำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่าง ก้าวกระโดด ต้องการพลังงานมหาศาล ย่อมจะดูดก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในโลกไปใช้เป็นจำนวนมาก ยังผลให้ปริมาณสำรองที่มีอยู่หดหายไปได้รวดเร็วกว่าที่คาดไว้ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อถึงเวลานั้น

สถานการณ์ก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย

ไทยเราก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติกับเขาเหมือนกัน ปัจจุบันเรามีแหล่งก๊าซอยู่ 3 หลุมในทะเลอ่าวไทย มีบริษัท Unocal เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากหลุมขุดเจาะ ในเขตอำเภอขนอม นครศรีธรรมราช มีการนำก๊าซส่งผ่านท่อในทะเลไปยังโรงไฟฟ้าระยอง และโรงไฟฟ้าบางปะกงของ กฟผ. ช่วยทำให้ค่าต้นทุนผลิตไฟฟ้าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าน้ำมัน และลดปัญหามลพิษไปได้ระดับหนึ่ง ที่เหลือส่งต่อไปยังโรงปูนที่แก่งคอย และท่าหลวง จังหวัดสระบุรี และเรายังต้องการใช้ก๊าซกับยานยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ อีก แต่! ปริมาณที่เรามีอยู่ในอ่าวไทยเวลานี้มีอยู่เพียงครึ่งหนึ่งของพลังงานที่เรา ต้องการสำหรับผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ทางออกของเราในเวลานี้คือ การนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ เข้ามาอีก

ปัจจุบันเรามีสัญญานำเข้าก๊าซธรรมชาติมาจากประเทศพม่า มาเลเซีย และกาตาร์ เรามีระบบท่อส่งก๊าซส่วนหนึ่งมาจากพม่า (จากหลุมยาดานาและเยตากุนในทะเลอันดามัน) ข้ามชายแดนที่จังหวัดกาญจนบุรีเข้ามายังราชบุรีส่งให้กับโรงไฟฟ้าราชบุรี และยังมีแนวท่ออีกสายหนึ่งที่กะว่าจะนำก๊าซมาจากแหล่งในมาเลเซีย ซึ่งค้างคาอยู่จากการประท้วง แนวท่อส่วนนี้นับวันก็ยิ่งมีอุปสรรคในการก่อสร้างและเสี่ยงต่อการก่อการร้าย มากขึ้น

ปตท. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดหาและจำหน่ายก๊าซและน้ำมันได้วาง แผนไว้อย่างรอบคอบพอควร โดยวางแนวทางไว้แล้ว 2-3 แนวทาง ทางหนึ่งคือการนำเข้าก๊าซจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากพม่า ปตท.ได้หันไปหาประเทศในตะวันออกกลาง ได้ทำสัญญาซื้อขายไว้แล้วกับประเทศกาตาร์เป็นเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2011 ในรูปของ LNG ซึ่งจะต้องขนส่งมาทางเรือ ทางออกอีกทางหนึ่งคือเร่งรัดให้มีการสำรวจแหล่งก๊าซในประเทศเพิ่มเติมทั้งบน บกและในทะเล ซึ่งประเทศเราก็มีศักยภาพอยู่พอควร ข่าวในอินเทอร์เน็ตเผยออกมาว่า ปตท.กำลังจะเปิดประมูลเชิญชวนให้มีการสำรวจขุดเจาะในทะเลอันดามัน ในพื้นที่ภาคอีสาน และเพิ่มเติมในอ่าวไทย ด้วยหวังว่าเราจะมีแหล่งก๊าซใช้เป็นของตัวเองมากขึ้น ราคาถูกกว่าการขนส่งมาทางเรือจากตะวันออกกลาง และการพึ่งพาประเทศอื่นๆ นั้นก็ไม่สามารถวางใจได้มากนัก โดยเฉพาะพม่าที่มีการปกครองประเทศตามอำเภอใจ อาจกลับไปกลับมาได้ทุกเมื่อ แล้วแต่ใครจะให้ผลประโยชน์มากกว่ากัน

นอกจากจะมีหน้าที่จัดหาก๊าซแล้ว ปตท.ยังมีภาระหนักหน่วงที่จะต้องคอยดูแลและตรวจสอบแนวท่อให้อยู่ในสภาพดี ประสานกับทั้งในพม่าและในประเทศ มิให้เกิดการรั่วไหล การระเบิด หรือการก่อการร้าย ที่ยกเอาประเด็นนี้ขึ้นมาเพราะเมื่อเร็วๆ นี้มีอุบัติเหตุเกิดการรั่วไหลของก๊าซในแนวท่อที่ส่งมาจากพม่าไปยังโรงไฟฟ้า ราชบุรี ทำให้การผลิตไฟฟ้าต้องหันไปใช้น้ำมันเตาและดีเซลแทน กฟผ.ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น และไม่มีสิทธิ์ที่จะโยนภาระนี้ไปให้กับผู้ใช้ไฟ ปตท.ก็ต้องเร่งหาแหล่งก๊าซมาชดเชย ซึ่งก็ต้องกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซในภาคอื่นๆ ด้วย ช่วงนี้ผู้ใช้ CNG กับรถยนต์ก็ต้องทำใจ หากไปเติมก๊าซที่สถานีแล้วก๊าซหมดไม่มีให้เติมเอาดื้อๆ เพราะก๊าซอาจถูกผันไปใช้กับโรงไฟฟ้าเพื่อคนส่วนใหญ่ก่อน เรื่องนี้! ก็ต้องจับตามองว่า รัฐจะแก้ปัญหาอย่างไรที่ให้ข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าจะใช้พลังน้ำมาแทนก็เป็น การพูดอย่างตื้นๆ ตอนนี้แม้แต่น้ำจะใช้ปลูกข้าวยังไม่มีเลย

ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ความจริงที่ไม่ค่อยได้เปิดเผยอย่างหนึ่งของการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ ธรรมชาติ คือการไปกระตุ้นให้เกิดการขยับตัวของรอยเลื่อนของเปลือกโลก (fault) ซึ่งนำไปสู่การเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ เนื่องจากแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมักจะปรากฏอยู่ตามรอยเลื่อนเหล่านี้ การขุดเจาะจึงไปกระทบกระเทือนรอยเลื่อนหรือทำให้ธรณีพิโรธเกิดการขยับตัวไหว ตัวได้ง่ายขึ้น รุนแรงขึ้น นอกจากนั้นการขุดเจาะก็ยังก่อให้เกิดแผ่นดินทรุดขึ้นในบริเวณโดยรอบถ้าหลุม ขุดเจาะอยู่บนแผ่นดิน หรือถ้าหลุมขุดเจาะอยู่ในทะเล ก็ทำให้เกิดของเสียขึ้นในน้ำทะเลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ ยิ่งมีการสำรวจขุดเจาะกันอย่างพลิกแผ่นดินเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ยิ่งทำ ให้สภาพธรณีวิทยาตามธรรมชาติถูกรบกวนมากขึ้นด้วย จนอาจเกิดภัยพิบัติในรูปแปลกๆ ที่คาดไม่ถึงขึ้นได้

ภาพรวมในอนาคต

สรุปโดยภาพรวม ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่หาได้ หรือ supply เทียบกับปริมาณที่ต้องการ หรือ demand ทั้งของโลกและในส่วนของประเทศไทย ดูไม่สมดุลกันเลย ในขณะที่ความพยายามของสังคมโลกหรือ UN ในการฟื้นฟูประชาธิปไตยและให้สิทธิมนุษยชนในพม่า ก็อ่อนเสียงลงๆ เพราะขาดความร่วมมือจากประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น จีน และอินเดีย จีนและอินเดียกลับหันไปเอาใจพม่าเพื่อจุดประสงค์ที่จะให้ได้ก๊าซธรรมชาติมา ใช้สนองการพัฒนาเศรษฐกิจของตน

อนาคตอันใกล้จะออกมาในรูปแบบใด พวกเราตาดำๆ ที่ใช้พลังงานก็ต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างไม่กะพริบ มีปัจจัยที่แปรไปได้อยู่หลายอย่าง ทั้งในด้านการเมืองการปกครอง ภัยธรรมชาติและอุบัติภัย สงครามแย่งชิงแหล่งพลังงาน ภาวะโลกร้อน ภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนภัยก่อการร้ายที่จะเป็นตัวชี้นำอนาคต

1 comments:

Anonymous said...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ

Template by : kendhin x-template.blogspot.com