Monday, June 30, 2008

Peak Energies ดอยพลังงาน

โลกในมุมมองของ Value Investor ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร 29 มิถุนายน 2551

พฤติกรรม ของกำลังการผลิตของน้ำมันปิโตรเลียมที่กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นในช่วงแรกและ จะเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดหลังจากที่แหล่งน้ำมันถูกดูดออกไปใช้ประมาณครึ่ง บ่อ หลังจากนั้นกำลังการผลิตจะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จนหมดบ่อ ซึ่งเราเรียกกำลังการผลิตที่จุดสูงสุดนี้ว่า Peak Oil นั้น ในความเป็นจริง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะน้ำมันปิโตรเลียม แต่รวมไปถึงพลังงานประเภทอื่นทั้งหมดที่เป็นพลังงานประเภทใช้แล้วหมดไปไม่สามารถผลิตขึ้นใหม่ได้เช่นเดียวกับน้ำมัน ลองมาไล่ดูว่ามีพลังงานอะไรบ้าง

แก๊สธรรมชาติ นี่คือพลังงานที่กำลังมาแรงหลังจากที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผมยังจำได้ว่าในสมัยก่อนเขาต้องจุดไฟเผาทิ้งเวลาที่ขุดเจอน้ำมันแล้วมีแก๊สธรรมชาติผสมมาด้วย ในปัจจุบันดูเหมือนว่าแก๊สธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่มีค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าน้ำมัน การใช้แก๊สธรรมชาติก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่าที่จริงในเมืองไทยเรานั้น ในการผลิตไฟฟ้าดูเหมือนว่าเราจะใช้แต่แก๊สธรรมชาติเป็นหลัก เพราะนี่คือสิ่งที่เราค้นพบในบ้านเรา ในระดับโลกเอง แก๊สธรรมชาติก็มีการใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณการใช้ประมาณ 60% ของน้ำมัน อย่างไรก็ตาม แก๊สธรรมชาติเองนั้นก็มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะมีกำลังการผลิตใกล้ Peak หรือยอดดอยเหมือนกัน นั่นคือ บางคนบอกว่าภายใน 3-4 ปีนี้ อย่างมากไม่เกิน 13-14 ปี กำลังการผลิตถึงจุดสุดยอดแน่นอน หลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ ลดลง เรื่องนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ เพราะอย่างแหล่งแก๊สของไทยเองก็ดูเหมือนว่าจะมีเวลาหมดภายในเวลา 10 หรือ 20 ปีเหมือนกัน

ถ่านหิน นี่คือแหล่งพลังงานที่ใหญ่มากหรืออาจจะเรียกว่าใหญ่ที่สุด แต่นี่ก็เช่นเดียวกัน มี Peak Coal หรือดอยถ่านหินเช่นกัน เพราะถ่านหินนั้น ในช่วงที่พบหรือเริ่มผลิตแรก ๆ เราสามารถที่จะขุดได้ง่าย แทบจะเรียกว่าตักได้เลยจากพื้น และถ่านหินที่เริ่มมีการขุดชุดแรก ๆ มักจะเป็นถ่านหินคุณภาพดีที่ให้พลังงานสูงและมีเศษเหลือที่ไม่พึงประสงค์น้อยพูดง่าย ๆ เป็นถ่านหินคุณภาพดี หลังจากนั้น พอถึงจุดสุดยอด ถ่านหินที่ขุดง่าย ๆ ก็จะหมดไป จะต้องขุดลึกลงไปเรื่อย ๆ และถ่านหินที่ได้มีคุณภาพแย่ลงเรื่อย ๆ และนี่คือปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิด Peak Coal ในทำนองเดียวกับ Peak Oil สรุปว่า กำลังการผลิตถ่านหินนั้นก็ใกล้ถึงจุดสุดยอด แม้ว่าจะดูว่าสำรองของถ่านหินนั้นมีมหาศาล แต่กำลังการผลิตใกล้ถึงจุดสูงสุด คาดการณ์กันว่าประมาณ 13 ปีข้างหน้าเช่นเดียวกับแก๊สธรรมชาติ

พลังงานนิวเคลียร์สำหรับหลายคนอาจจะบอกว่าเป็นทางออกหลังจากน้ำมันหมดโลก เพราะนอกจากจะเป็นพลังงานที่สะอาดแล้ว มันยังไม่ก่อให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย แต่นี่ก็เช่นกัน มันจะเกิดจุดที่กำลังการผลิตถึงจุดสูงสุดคือเกิด Peak เหมือนกัน เพราะแร่ยูเรเนียมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เหมาะสมนั้นก็กำลังใกล้หมดและราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ การค้นพบก็น้อยลงเรื่อย ๆ และคาดว่าจะเกิด Peak ในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า

พลังงานอีกอย่างหนึ่งที่เริ่มมีการใช้มากขึ้นก็คือ ทรายน้ำมันและหินน้ำมันซึ่งมีมากในแคนาดา การใช้ก็คือ นำมันมาสกัดเพื่อให้ได้น้ำมันดิบออกมา แต่การสกัดน้ำมันจากทรายและหินน้ำมันนั้นใช้พลังงานมหาศาลและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก ดังนั้น นี่ก็คงจะทำได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

นอกจากพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป ทางออกที่จะใช้พลังงานที่ผลิตขึ้นใหม่ได้เองก็มีปัญหาในด้านของกำลังการผลิตเช่นกัน ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

พลังน้ำ นี่คือพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนต่าง ๆ นับถึงวันนี้อาจจะพูดได้ว่าเขื่อนใหญ่ ๆ ทั้งหลายในโลกนี้ ถูกสร้างหมดไปแล้วโดยเขื่อนสุดท้ายน่าจะเป็นเขื่อนไตรผาที่เมืองจีน แต่เขื่อนนั้นรวมกันทั้งหมดสามารถให้พลังงานคิดเป็นเพียงประมาณ 2- 3% ของการใช้พลังงานของโลกเท่านั้น

พลังงานที่กำลังร้อนแรงมากหลังจากราคาน้ำมันขึ้นไปสูงก็คือพลังงานชีวภาพ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ เอธทานอล ที่เราเอามาผสมเป็นแก๊สโซฮอล หลายคนคิดว่านี่คือทางออกโดยเฉพาะในประเทศของเราที่สามารถปลูกพืชผลได้มากพอที่จะทำเอธทานอลใช้แทนน้ำมันได้ แต่ถ้ามองกันในภาพใหญ่ระดับโลกแล้ว การเอาพืชมาทำเป็นพลังงานนั้น ในทางทฤษฎี อย่างน้อยก็ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ยังไม่มีเหตุผล เพราะการปลูกพืชนั้นเราต้องใช้พลังงานเช่น ต้องเอารถมาไถหว่าน ต้องใส่ปุ๋ยซึ่งมาจากน้ำมัน ต้องรดน้ำ ต้องเก็บเกี่ยวที่ต้องใช้เครื่องจักร ต้องนำผลิตผลไปส่งที่โรงงาน และในโรงงานก็ต้องใช้พลังงานในกระบวนการผลิต เสร็จแล้วก็ต้องนำเอาเอธทานอลที่ได้ไปส่งที่ปั๊ม คิดแล้ว พลังงานที่ใช้ไปในการผลิตเอธทานอลหนึ่งลิตรนั้น เผลอ ๆ จะมากกว่าพลังงานที่ได้จากเอธทานอลหนึ่งลิตรด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ในระยะยาวแล้ว พลังงานจากพืชจึงไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาพลังงานหมดโลก

พลังงานที่ดูเหมือนว่าจะมีมากอย่างไม่จำกัดและมีต้นทุนในการผลิตต่ำมากก็คือ พลังงานแสงแดด พลังงานลม พลังงานจากคลื่นในทะเล และที่น่าสนใจมากก็คือ พลังความร้อนจากใต้ดินลึกลงไปในโลก ปัญหาของพลังงานเหล่านี้ก็คือ การลงทุนสร้างแผงเซลแสงอาทิตย์ การสร้างกังหันลม การสร้างอุปกรณ์ทั้งหลายที่จะมาจับพลังงานเหล่านี้มาใช้นั้น ต้องลงทุนและ “ใช้พลังงาน” มหาศาล เช่นต้องใช้เหล็กซึ่งเหล็กเองต้องใช้พลังงานมาถลุงและอื่น ๆ อีกมาก เหนืออื่นใดก็คือ นับถึงวันนี้ พลังงานในกลุ่มนี้ยังมีการใช้น้อยมากรวมกันแล้วเพียงไม่เกิน 1% ของการใช้พลังงานทั้งโลก ดังนั้น การหวังพึ่งพิงพลังงานจากแหล่งเหล่านี้จึงยังหวังไม่ได้

ข้อสรุป ณ.วันนี้ก็คือ พลังงานของโลกทุกแหล่งน่าจะ Peak หรือมีกำลังการผลิตสูงสุดในช่วงประมาณปี 2020 ถึง 2025 หรืออีกประมาณ 12-17 ปี ข้างหน้า ยกเว้นว่าจะมีพลังงานอะไรใหม่ขึ้นมาในโลก ซึ่งการ Peak นี้ก็อาจจะนำไปสู่การขัดแย้งเพื่อแย่งแหล่งพลังงานกัน หนทางแก้ก็คือ การลดการบริโภคพลังงานลง และการลดการบริโภคที่ดีที่สุดก็คือ ราคาของพลังงานก็ควรจะต้องเพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ ยังเป็นเรื่องของการคาดเดาและไม่ได้เป็นการบอกใบ้ว่า ราคาของพลังงานทุกชนิดจะต้องเพิ่มขึ้นหรือหุ้นพลังงานทุกตัวน่าจะดี พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเอธทานอล ผมยังจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อน คนบอกว่า ถ้าราคาน้ำมันถึง 40-50 เหรียญต่อบาร์เรล การผลิตเอธทานอลจะคุ้มค่าเพราะต้นทุนของเอธทานอลอยู่ตรงนี้ แต่พอน้ำมันขึ้นไปเป็น 100 เป็น 130 เหรียญ การผลิตเอธทานอลก็ยังไม่เห็นได้กำไรเป็นเรื่องเป็นราว เหตุผลก็คือ เมื่อราคาน้ำมันเพิ่ม วัตถุดิบและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการผลิตเอธทานอลก็ขึ้นตาม อย่าลืมว่า การผลิตเอธทานอลนั้นก็ต้องใช้น้ำมันและพลังงานไม่น้อย

0 comments:

Template by : kendhin x-template.blogspot.com