สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ปรับเป้าหมายดัชนีตลาดหลักทรัพย์เฉลี่ย ณ ปลายปี 2551 มาอยู่ที่ 927 จุด ซึ่งลดลงจากที่คาดไว้เดิมเมื่อ มค.ที่ผ่านมาซึ่งเคยคาดการณ์ไว้ที่ 958 จุด ทั้งนี้ จากการเปิดเผยโดยนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมฯ เกี่ยวกับผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ล่าสุด เรื่องแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้น โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 5 ในขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน จะมีกำไรสุทธิต่อหุ้นเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 19.7 โดยกลุ่มที่มีผลประกอบการเติบโตสูงที่สุด คือ กลุ่มธนาคาร นอกจากนี้ นักวิเคราะห์แนะให้รัฐบาลมีนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน และเรียกร้องให้มีความสมานฉันท์ในชาติ
สมาคมนักวิเคราะห์ฯ ได้สำรวจความเห็นนักวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป โดยมีประเด็นเกี่ยวกับปัจจัยที่นักวิเคราะห์มองว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน ทั้งปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยอื่น แนวโน้มของสถานการณ์ทางการเมือง ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจซึ่งรวมถึง แนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาท คาดการณ์อัตราการขยายตัวของกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมและใน 6 กลุ่มธุรกิจสำคัญ เป้าหมายดัชนีตลาดหลักทรัพย์ หุ้นที่แนะนำให้ลงทุนในช่วงนี้ คำแนะนำให้นักลงทุน รวมถึงข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ตลาดทุน และสังคม โดยมีสำนักวิจัยจากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งไทยและบริษัทต่างชาติแสดงความเห็นรวม 21 แห่ง
นักวิเคราะห์ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมดมองตรงกันว่า ปัจจัยการเมือง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยประเด็นทางการเมืองที่ส่งผลกระทบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
- อันดับ 1 มีผู้ตอบร้อยละ 67 คือ การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มที่คัดค้านรัฐบาล ซึ่งมีความกังวลว่าจะมีการยืดเยื้อและนำไปสู่ความรุนแรง
- อันดับ 2 มีผู้ตอบร้อยละ 52 คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
- อันดับ 3 มีผู้ตอบร้อยละ 24 คือ ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล
สำหรับทิศทางของสถานการณ์ทางการเมืองในระยะ 6 เดือนข้างหน้านั้น นักวิเคราะห์ร้อยละ 52 มองว่าจะแย่ลง ในขณะที่ร้อยละ 33 คาดว่าจะดีขึ้น และอีกร้อยละ 14 เห็นว่าไม่เปลี่ยนแปลง
นอกเหนือจากปัจจัยทางการเมือง ปัจจัยที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 แบ่งเป็นปัจจัยบวก และปัจจัยลบ ประกอบด้วย
ปัจจัยบวก
- อันดับ 1 ผู้ตอบร้อยละ 52 คือ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
- อันดับ 2 ผู้ตอบร้อยละ 29 คือ แนวโน้มรายได้และกำลังซื้อของภาคเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น จากการที่ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับสูง
- อันดับ 3 ผู้ตอบร้อยละ 19 มีสองปัจจัย คือ เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะยาว และอีกปัจจัยหนึ่งคือ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีอัตราการขยายตัวในระดับที่ดี
ปัจจัยลบ
- อันดับ 1 ผู้ตอบร้อยละ 71 มีสองปัจจัยซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน คือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากราคาน้ำมันที่สูง
- อันดับ 2 ผู้ตอบร้อยละ 67 คือ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น
- อันดับ 3 ผู้ตอบร้อยละ 29 คือ เศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลง จากปัญหาเศรษฐกิจและการเงินทั้งของสหรัฐและหลายประเทศ
เมื่อเปรียบเทียบคาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ หรือ SET Index ณ วันสิ้นปี 2551 โดยเทียบผลคาดการณ์ระหว่างช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุชุมนุมทางการเมือง กับในปัจจุบัน พบว่านักวิเคราะห์ปรับลดเป้าหมายดัชนีลง โดยตัวเลขเฉลี่ยของดัชนี ณ สิ้นปี 2551 ก่อนเกิดเหตุชุมนุมอยู่ที่ 985 จุด ในขณะที่ปัจจุบัน ตัวเลขเฉลี่ยลดลงไปอยู่ที่ 927 จุด โดยมีผู้คาดการณ์ 1 รายที่คาดการณ์ไว้สูงถึง 1,200 จุด ขณะที่สำนักที่เหลือทั้งหมดไม่มีรายใดคาดการณ์สูงกว่า 970 จุด และนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นปี 2552 โดยเฉลี่ยจะสามารถปรับขึ้นไปที่ระดับ 1,081 จุด โดยมี ผู้คาดการณ์ไว้สูงสุดที่ 1,400 จุด
ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจสำหรับทั้งปี 2551 คือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth จากการสำรวจของสมาคมนักวิเคราะห์ฯ พบว่า ตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยก่อนเกิดเหตุชุมนุมอยู่ที่ 5.3% เทียบกับในปัจจุบันมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ซึ่งยังสูงขึ้นเล็กน้อยจากระดับเฉลี่ย 4.8% ในการสำรวจครั้งที่แล้วเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา สำหรับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน หรือ EPS Growth ในปี 2551ก่อนเหตุชุมนุม นักวิเคราะห์คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 21% เทียบกับปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 19.7% ซึ่งสูงขึ้นจากการสำรวจครั้งที่แล้วที่ 18.9%
ในปัจจุบันนักวิเคราะห์คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจากการประเมินครั้งก่อน โดยเมื่อ 29 มค.51 เคยคาดการณ์ดอกเบี้ย RP 1 วัน ณ สิ้นปี 2551 อยู่ที่เฉลี่ย 3.10% แต่ปัจจุบันคาดการณ์ไว้ที่เฉลี่ย 3.56%
นักวิเคราะห์มีการปรับประมาณการ อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและดอลลาร์สรอ. ณ สิ้นปี 2551 เช่นกัน โดยก่อนเหตุชุมนุม คาดไว้เฉลี่ยอยู่ที่ 31.9 บาทต่อดอลลาร์สรอ. ในขณะที่ปัจจุบันปรับประมาณการใหม่เป็น 32.7 บาทต่อดอลลาร์สรอ.
(โปรดดูเอกสารแนบ ตารางที่ 1 - ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจเปรียบเทียบระหว่าง ก่อนเกิดเหตุชุมนุมทางการเมือง และปัจจุบัน)
ประมาณการผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ ประเมินจากอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของกลุ่มธุรกิจสำคัญ จากผลที่ได้จากแบบสอบถาม พบว่า กลุ่มธนาคารยังคงมีอัตราการเติบโตสูงสุด โดยมีค่าเฉลี่ย EPS Growth ที่ 466.6% อันดับสองคือ อสังหาริมทรัพย์ เติบโตเฉลี่ยที่ 28.1% อันดับต่อมาคือ กลุ่มเดินเรือ เติบโตเฉลี่ยที่ 12.2%
ตารางที่ 2 - EPS Growth (%) ปี 2551 แยกตามกลุ่มธุรกิจกลุ่มธุรกิจ | ค่าเฉลี่ย | |
สำรวจครั้งนี้ | สำรวจครั้งก่อน (29 มค.51) | |
ธนาคาร | 466.6 | 171.0 |
อสังหาริมทรัพย์ | 28.1 | 15.1 |
เดินเรือ | 12.2 | 3.6 |
พลังงาน | 8.4 | 11.2 |
วัสดุก่อสร้าง | 3.6 | -3.5 |
ปิโตรเคมี | -0.4 | 13.7 |
ข้อเสนอแนะเพื่อประเทศชาติ
นักวิเคราะห์ที่ตอบแบบสอบถามเสนอข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ตลาดทุน และ/หรือสังคมของประเทศ โดยเสนอแนะดังนี้
- นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลควรมีความชัดเจนและคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว
- ควรร่วมมือกันประหยัดพลังงาน
- ประชาชนควรมีความสมานฉันท์ และร่วมมือกัน ลดความขัดแย้ง เพื่อช่วยให้ประเทศฝ่าฟันปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองไปได้
หุ้นแนะนำ
นักวิเคราะห์แนะนำหุ้นน่าลงทุน ที่ตรงกันหลายสำนักวิจัย ได้แก่ BANPU, HANA, KBANK, PTTEP, SCB เป็นต้น (เรียงตามลำดับตัวอักษร)
คำแนะนำการลงทุนโดยสรุป
สำหรับการลงทุนระยะกลางและยาว ให้ทยอยสะสมหุ้นเมื่ออ่อนตัวลง เน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ได้รับผลกระทบน้อยจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น มีกระแสเงินสดดี และมีเงินปันผลสูง
0 comments:
Post a Comment