Thursday, May 29, 2008

ปลาหมึกเลี้ยงในกระชังได้

ปลาหมึก เป็นสัตว์น้ำประเภทกินเนื้อและจะกินอาหารมากกว่าน้ำหนักของตัวเองในแต่ละวัน อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ ที่ทรงประสิทธิภาพช่วยให้ปลาหมึกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ปลาหมึกที่มีความสำคัญ แบ่งตามลักษณะทางชีววิทยาการเพาะเลี้ยงออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มปลาหมึกกลาวน้ำ หรือ กลุ่มปลาหมึกหอม มีหนวด 10 เส้น ปลาหมึกในกลุ่มนี้ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง จะว่ายน้ำหาอาหารอยู่ตลอดเวลา ว่องไว ปราดเปรียว ซึ่งอาหารก็คือกลุ่มปลากลางน้ำ ปลาหมึกกลุ่มนี้ชอบอยู่ในน้ำใสสะอาดอีกกลุ่มเป็น ปลาหมึกหน้าดิน หรือปลาหมึกกระดอง มีหนวด 10 เส้น กลุ่มนี้เป็นปลาหมึกที่อาศัยอยู่ตามหน้าดิน ปกติจะนอนหรือฝังตัวอยู่ตามหน้าดิน เช่นเดียวกับสัตว์น้ำประเภท กุ้ง ปู และปลาหน้าดินชนิดต่าง ๆ ซึ่งเป็นอาหารของปลาหมึกกลุ่มนี้ และ ปลาหมึกสาย เป็นปลาหมึกที่มีหนวด 8 เส้น เป็นปลาหมึกหน้าดินเช่นเดียวกับกลุ่มปลาหมึกกระดอง บางชนิดฝังตัวในหน้าดิน แต่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามโพรงหิน อาหารที่กินจะเป็นสัตว์กลุ่มกุ้งและปู

พ่อแม่พันธุ์ของปลาหมึกจะสามารถ ผสมพันธุ์วางไข่ได้ในบ่อเลี้ยง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการผสมเทียมหรือการกระตุ้นด้วยปัจจัยทางกายภาพไม่ว่าพ่อแม่พันธุ์นั้นจะมาจากธรรมชาติหรือจากการเพาะเลี้ยง ขณะเดียวกันไข่ปลาหมึกก็สามารถรวบรวมได้จากธรรมชาติ ซึ่งปริมาณไข่จะแตกต่างกันไปตามชนิดของปลาหมึกและขนาดของพ่อแม่พันธุ์ ในตัวอ่อนของปลาหมึกจะได้รับการป้องกันอย่างดีจากเปลือกที่ซ้อนกันอยู่หลายชั้นเป็นการช่วยป้องกันตัวอ่อนจากการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันของสิ่งแวดล้อมจึงทำให้โอกาสการรอดสูง

แต่จะไม่มีระยะตัวอ่อนที่แท้จริง เนื่องมาจากระยะการฟักตัวที่ยาวนาน การพัฒนาของตัวอ่อนเกิดขึ้นภายในไข่ ลูกปลาหมึกแรกฟักจะมีลักษณะใกล้เคียงกับพ่อแม่ และยังมีขนาดใหญ่ กว่าสัตว์น้ำวัยอ่อนชนิดอื่น ข้อจำกัดเรื่องอาหารที่เหมาะสมต่อพฤติกรรมการกินจะมีน้อย เนื่องจากปลาหมึกสามารถจับอาหารได้หลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กที่สุดประมาณ 30% ของขนาดตัวปลาหมึกเองไปจนถึงขนาดใหญ่กว่า 200% ของความยาวลำตัว จึงเป็นผลให้อัตราการเจริญเติบโตสูงมาก ซึ่งมีผลมาจากพฤติกรรมการกินอาหารของปลาหมึกนั้นเอง และปลาหมึกเป็นสัตว์น้ำที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งตัว

เนื่องจากปลาหมึกเป็นสัตว์น้ำที่ต้องการพลังงานสูง และมีอัตราการเผาผลาญอาหารที่สูงเช่นเดียวกันจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในน้ำที่มีคุณภาพดีตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาหมึกกลุ่มกลาวน้ำที่ว่องไวกว่าปลาหมึกกลุ่มที่อาศัยตามหน้าดินคุณภาพน้ำที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของปลาหมึก คือ อุณหภูมิในช่วง 28-32 ํC ความเค็ม 28-32 ส่วนในพันล้าน ความเป็นกรดเป็นด่าง 7.0-8.5 ปริมาณออกซิเจนสูงกว่า 5 มก.ต่อลิตร ความขุ่นใสของน้ำจะต้องต่ำสุดเท่าที่จะเป็นได้ เนื่องจากเหงือกของปลาหมึกไม่มีระบบกำจัดตะกอนตามธรรมชาติ

การเพาะเลี้ยงในกระชังมีหลายแห่งในพื้นที่ทะเลอันดามันริมฝั่งไทยเพาะเลี้ยงประสบความสำเร็จมาแล้ว ซึ่งจากประสบการณ์ของเกษตรกร ที่นั้นจะเริ่มด้วยการพิจารณาว่า จะเลี้ยงปลาหมึกชนิดใด เพราะการจัดการจะต้องเหมาะสมกับพฤติกรรมและถิ่นที่อยู่อาศัย ปลาหมึกเป็นสัตว์น้ำที่ชอบน้ำใสไม่มีตะกอนรบกวนระบบหายใจ ปลาหมึกบางชนิด เช่น ปลาหมึกกระดองก้นไหม้ อาจจะทนทานต่อน้ำที่มีความขุ่นสูง แต่ปลาหมึกกลาวน้ำ เช่น ปลาหมึกหอม นอกจากจะต้องการน้ำใสและคุณภาพน้ำที่ดีแล้วยังต้องมีกระแสน้ำแรงหรือน้ำไหลพอสมควรเพื่อช่วยในการลอยตัว แต่ถ้ากระแสน้ำไหลแรงเกินไปปลาหมึกจะสูญเสียพลังงานในการว่ายน้ำมากเกินไปทำให้อัตราการเจริญเติบโตลดลง ปลาหมึกหน้าดิน เช่น ปลาหมึกกระดองยิ่งต้องคำนึงเกี่ยวกับกระแสน้ำมากขึ้น เพราะนิสัยชอบหมอบติดกับพื้น กระแสน้ำที่แรงเกินไปจะพัดให้ปลาหมึกต้องลอยตัวอยู่ตลอดเวลาทำให้สูญเสียพลังงานที่จะใช้ในการเจริญเติบโตไปได้

ปลาหมึกจึงเหมาะกับการเลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะปลาหมึกกลาวน้ำ เช่น ปลาหมึกหอม เหมาะกับการเลี้ยงในกระชัง ปลาหมึกหน้าดิน เช่น ปลาหมึกกระดอง เหมาะกับการเลี้ยงในคอก ส่วนการเลี้ยงในบ่อดิน มีปลาหมึกก้นไหม้เพียงชนิดเดียวที่เหมาะสม

สำหรับกระชังที่ใช้เลี้ยงปลาหมึกหอม ควรเป็นกระชังแบบแขวนบนทุ่นลอย ทุ่นลอยอาจจะเป็นแพไม้ไผ่ ถังน้ำมันเปล่า หรือทุ่นโฟมก็ได้ แต่ก้นกระชังต้องลอยอยู่เหนือหน้าดิน ทำเลที่เหมาะสมควรมีความลึกพอสมควร อย่างน้อย 2 เมตร เช่น บริเวณเกาะหรืออ่าวเปิดที่มีน้ำใส และหน้าดินเป็นพื้นทราย ตัวกระชังเป็นแบบกระชังเย็บเป็นมุ้ง ไม่มีโครงแข็ง เพราะจะทำให้ปลาหมึกเกิดเป็นบาดแผลเมื่อพุ่งไปชน มีพื้นที่กว้างอย่างน้อย 5 ตารางเมตร ลึก 1.5 เมตร สำหรับปลาหมึกกลาวน้ำนั้นจะมีนิสัยก้าวร้าวอยู่บ้างคือหากหิวมาก ๆ ก็มักจะกินกันเอง หรืออยู่ในที่ที่แคบเกินไป กระชังเลี้ยงควรเป็นขนาดตาอวนประมาณ 1 เซนติเมตร ซึ่งอาจใช้ตาอวนขนาดใหญ่กว่านี้ เมื่อปลาหมึกโตขึ้น

และควรมีกระชังสำรองเพื่อเปลี่ยนกระชังเก่าขึ้นมาทำความสะอาดอย่างน้อยเดือนละ ครั้ง และระยะเวลาในการเลี้ยงจะอยู่ที่ 3 เดือน ก็จะสามารถจับขึ้นมาจำหน่ายได้ ส่วนการเพาะเลี้ยงแบบคอกสำหรับการเลี้ยงปลาหมึกกระดองนั้น จะมีลักษณะเช่นเดียวกับคอกสัตว์น้ำอื่น ๆ จะต่างกันก็ตรงที่เนื้ออวนที่ใช้ คือควรเป็นเนื้ออวนแบบเอ็นเส้นด้ายจะเหมาะสมที่สุด.

0 comments:

Template by : kendhin x-template.blogspot.com