Sunday, May 18, 2008

'มาม่า' ซองละ 50 บาท + พม่าอ่วม! ขาดแคลนน้ำ-อาหารรุนแรง / นับล้านคนจ่อทะลักไทย

ค้า ชายแดนไทย-พม่าเจอหางเลขพายุนาร์กิส ยอดการค้าด่านแม่สาย-ขี้เหล็ก ระนอง-เกาะสองวูบทันตา ขณะที่ด่านแม่สอด-เมียวดีคึกคักสุดขีดยอดสั่งซื้อสินค้าสำเร็จรูป อาหาร และน้ำดื่มรวมถึงวัสดุก่อสร้างพุ่ง100% มาม่าขายที่ย่างกุ้งซองละ50 บาท จับตาแรงงานพม่าทะลักไทยนับล้านคน "สมัคร"แสดงน้ำใจ ส่งอาหาร ตะปู-สังกะสี-ผ้าใบช่วย ด้านนักลงทุนนักธุรกิจบอกทำใจเถอะ กระทบแค่สั้นๆ
จาก - หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2322 15 พ.ค. - 17 พ.ค. 2551

ตามที่พายุไซโคลน "นาร์กิส" เข้าพัดถล่มประเทศพม่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุพายุไซโคลนนาร์กิสพัดถล่ม พุ่งสูงขึ้นถึง15,000 คนแล้ว ขณะที่ตัวเลขผู้สูญหายอยู่ที่ 15,000 คนโดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองโบกาเลย์และลาบุตตาบริเวณสามเหลี่ยม แม่น้ำอิระวดี แหล่งเพาะปลูกสำคัญของประเทศ

อย่างไรก็ดีรายงานความเสียหายยังสับสนอยู่มาก เป็นที่น่าสังเกตว่าโดยปกติแล้ว รัฐบาลเผด็จการทหารพม่ามักปกปิดข้อมูลความเสียหายต่าง ๆ หรือรายงานต่ำกว่าความเป็นจริงมาก และน้อยครั้งมากที่จะร้องเรียกความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ขณะที่นานาประเทศรวมถึงไทยกำลังให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่และเร่งด่วน

**สมัครส่งอาหาร-ตะปู-สังกะสี-ผ้าใบช่วย

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า จากการที่ประเทศสหภาพพม่าประสบเหตุพายุไซโคลนพัดถล่มจนได้รับความเสียหาย จำนวนมากและได้ขอความช่วยเหลือกับรัฐบาลไทย ล่าสุดรัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือด้วยการส่งเครื่องบินC 130 นำยาและอาหารสำเร็จรูปเที่ยวแรกจำนวน 9 ตัน และส่วนที่เหลือที่เป็นยาและของใช้จำเป็นทางกระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติงบ ประมาณจำนวน 13 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อเวชภัณฑ์

ขณะที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดซื้อของประเภท อุปกรณ์ก่อสร้าง อาทิ ตะปู สังกะสี ผ้าใบ โดยขอความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดซื้อในราคาที่เป็นธรรมไปช่วยเหลือด้วย

**ค้าชายแดนโดนหางเลข

สำหรับบรรยากาศตามแนวชาวแดนไทย - พม่า ทางด้านอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หลังจากที่เกิดภัยธรรมชาติในพม่า นายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ รองประธานฝ่ายการค้าชายแดน(แม่สาย) หอการค้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าส่งผลกับการค้าชายแดนระหว่างไทยกับพม่า อย่างแน่นอน อย่างแรกที่มีผลชัดเจน ก็คือกำลังซื้อที่หายไปไม่น้อยกว่า 20% ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการสั่งสินค้า เพื่อรอดูสถานการณ์และดูดีมานด์และซัพพลายในตลาด ซึ่งคงต้องรออีกสัก 3-5 วันจะชัดเจน

"เท่าที่ได้คุยกับนักธุรกิจพม่าในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ก็รู้สึกช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่มั่นใจว่า วิกฤติเกี่ยวกับการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนความไม่สงบเรียบร้อยต่างๆ คงจะไม่เกิดขึ้น เศรษฐกิจท่าขี้เหล็กปัจจัยหลักอยู่ที่การท่องเที่ยว หากการท่องเที่ยวยังเดินหน้าไปได้ ก็ไม่มีปัญหา" นายบุญธรรม กล่าวและว่า

สินค้าไทยที่จะมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากนี้เป็นต้นไป อยากให้จับตาดูเรื่องของวัสดุก่อสร้างทุกชนิดและสินค้าประเภทบะหมี่กึ่ง สำเร็จรูปที่น่าจะมีการปรับราคาภายในประเทศพม่า ส่วนเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและอาหารอื่นๆ คาดว่าสินค้าราคาถูกจากจีนจะแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปได้มาก

**ต.ม.สั่งจับตาแรงงานพม่าทะลัก

พ.ต.อ.เจษฎา ใยสุ่น ผู้กำกับการ ด่านตรวจคนเข้าเมือง(ต.ม.)แม่สาย กล่าวถึงสถานการณ์การทะลักเข้ามาของแรงงานต่างด้าวชาวพม่าหลังจากนี้ไปว่า พื้นที่อำเภอแม่สายและจังหวัดเชียงราย ปัญหาคงจะไม่รุนแรง เนื่องจากเส้นทางการลำเลียงแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่และขบวนการค้าแรงงาน ต่างด้าวเคยใช้กัน ด่านต.ม.แม่สายมีข้อมูลอย่างครบถ้วนชัดเจน ประกอบกับมาตรการการสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวในจังหวัดเชียงรายและจังหวัด พะเยาซึ่งด่าน ต.ม.แม่สายดูแลอยู่ ได้มีการบูรณาการในการจัดตั้งจุดสกัดเป็นจำนวนมาก โอกาสที่จะลักลอบมีน้อยมาก

"ทางด้านแม่สอดและระนองน่าจะมีความรุนแรงมากกว่า แต่น่าจะเป็นช่วงหลังจากนี้ไปประมาณ 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามด่าน ต.ม.แม่สาย มีมาตรการด้านการป้องกันด้วยจัดชุดสืบสวนออกตรวจตามสถานที่ที่น่าสงสัยอยู่ ตลอดเวลา และในช่วงฤดูแล้งก็เป็นช่วงที่ด่าน ต.ม.แม่สายเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจค้นให้มากขึ้นอยู่แล้ว"

**แห่ซื้อสินค้าแม่สอดพุ่ง100%

ส่วนการค้าชายแดนไทย-พม่า ด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นายสุชาติ ตรีรัตน์วัฒนา ประธานที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตากและผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่ชายแดน ไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า ขณะนี้วัสดุก่อสร้างในพื้นที่อำเภอแม่สอดขาดตลาด โดยเฉพาะตะปูและสังกะสี ที่ชาวพม่าสั่งซื้อจำนวนมาก เพื่อไปซ่อมแซมบ้านเรือน ร้านค้าที่พังเสียหาย ทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น โดยพ่อค้าในพื้นที่แม่สอดได้มีการสั่งซื้อในจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้พอเพียงกับความต้องการของชาวพม่า

นอกจากนี้ยังมีสินค้าอุปโภคบริโภค และน้ำดื่มรวมถึงยาและเวชภัณฑ์ มีจำนวนยอดสั่งซื้อมากขึ้นจนถึงขั้นขาดตลาด ในช่วง 2-3 วันนี้ มีชาวพม่ามาซื้อสินค้าฝั่งไทยเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทางด่านการค้าถาวร แม่สอด-เมียวดี จากเดิมที่เคยมีการซื้อ-ขายสินค้า วันละประมาณ 20-30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100 % เป็นจำนวนกว่า 50-60 ล้านบาทต่อวัน และคาดว่าในช่วงสัปดาห์นี้สินค้าดังที่กล่าวมาจะมีชาวพม่าสั่งซื้อเพิ่มมาก ขึ้น

นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่าช่วงนี้ชาวพม่าจะมีการสั่งซื้อสินค้า อาหาร และน้ำดื่มมากขึ้น รวมไปถึงวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตามจะเกิดผลกระทบระยะยาวต่อการค้าชายแดน โดยการสั่งซื้อสินค้าจะลดน้อยลง เพราะชาวพม่าไม่มีเงิน ประกอบกับเศรษฐกิจตกต่ำและจากการที่พื้นที่ทำการเกษตรเสียหายหลายแสนไร่ทำ ให้ชาวพม่าขาดกำลังซื้อ

"ช่วงนี้อยากจะให้เจ้าหน้าที่พม่าที่ประจำการชายแดนได้อำนวยความสะดวกในการ นำสินค้าจากชายแดนแม่สอด เข้าไปยังฝั่งพม่าเพื่อเร่งช่วยเหลือ โดยสินค้าที่พม่ากำลังต้องการมากที่สุดในขณะนี้ คือ เครื่องอุปโภคบริโภค ยาเวชภัณฑ์ น้ำดื่ม และวัสดุก่อสร้างที่ต้องเร่งนำเข้าเพื่อไปซ่อมแซม อาคาร ร้านค้า และบ้านเรือนที่พังเสียหาย"

ผู้สื่อข่าว"ฐานเศรษฐกิจ"ประจำอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รายงานว่า ในช่วง 1-2 วันนี้(ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.2551)มีชาวพม่าจากจังหวัดเมียวดี ตรงข้าม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เดินทางมาซื้อสินค้าวันละกว่า 2,500-3,000 คน โดยผ่านทางด่านตรวจคนเข้าเมืองตาก(แม่สอด) เพิ่มจากปกติวันละ 1,500 คน ทั้งนี้เพื่อมาซื้อสินค้าไปเก็บไว้ เพื่อป้องกันสินค้าราคาแพงขึ้น

**ค้าชายแดนระนองช็อกยอดวูบ

ด้านบรรยากาศตามแนวชายแดนไทย-พม่าด้านจังหวัดระนอง นายดำรงค์ ขจรมาศบุษป์ นักธุรกิจค้าชายแดนไทย-พม่า อดีตประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวให้ความเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกว่าจะตั้งหลักได้ต้องใช้เวลาไม่ ต่ำกว่า 2-3 เดือน จากนั้นทุกอย่างก็จะเริ่มดีขึ้น แต่มีอีกประการที่หลายคนเป็นห่วง คือ การส่งออกข้าวของพม่า จากพายุที่เข้าพัดถล่มย่านลุ่มแม่น้ำอิระวดี ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพม่า ได้รับความเสียหายอย่างหนัก อาจจะส่งผลต่อการส่งออกข้าว และสินค้าทางการเกษตร

"ในส่วนของนักธุรกิจค้าชายแดน หอการค้าชายแดนทั้ง 6 จังหวัด ขณะนี้ได้ประสานเตรียมระดมสรรพกำลัง เพื่อระดมเครื่องอุปโภคบริโภค เชิญชวนให้ผู้คนบริจาค โดยมีหอการค้าแต่ละจังหวัดเป็นศูนย์กลาง เพื่อรวบรวมนำเข้าไปช่วยเหลือชาวพม่า เพราะตอนนี้ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนจริงๆ"

เรือไทยปลอดภัย เรือพม่าจมพันลำ

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย เปิดเผยว่า พายุไซโคลนที่พัดกระหน่ำพม่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีเรือประมงขนาดเล็กที่มีนักลงทุนทั้งไทยและเทศเข้าไปลงทุนโดยชักธงพม่านับ พันลำถูกพายุซัดกระหน่ำจม และบางส่วนถูกหอบขึ้นไปอยู่บนฝั่ง ขณะที่เรือประมงของบริษัท สยามโจนาธาน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยเพียงรายเดียวที่ได้รับสัมปทานทำประมงในพม่าจำนวน 240 ลำ เท่าที่ได้รับรายงาน มีเรือได้รับความเสียหายประมาณ 2 ลำ ส่วนที่เหลือสามารถหนีกลับมาหลบลมที่ชายฝั่งจังหวัดระนองได้ ส่วนยอดลูกเรือประมงที่เสียชีวิตในครั้งนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดซึ่งอยู่ระหว่าง การตรวจสอบข้อมูล

"เหตุการณ์ครั้งนี้มีเรือขนาดเล็กที่มีเจ้าของเป็นต่างชาติซึ่งเป็นของใคร ไม่มีข้อมูล แต่มีไต้ก๋งเรือส่วนใหญ่เป็นคนไทย โดยเรือในส่วนนี้ได้รับความเสียหายเกือบหมด จมเป็นพันลำ แต่เรือของบริษัทสยามโจนาธานฯส่วนใหญ่ปลอดภัย เพราะพอรู้ข่าวพายุจะเข้าก็ได้วิ่งมาหลบลมที่ระนอง แต่เรือเล็กของพม่าชะล่าใจไปหน่อยเพราะเขาคาดว่าว่าพายุจะไปขึ้นที่บังกลา เทศ แต่ปรากฏพายุเลี้ยวกลับมาขึ้นฝั่งที่พม่าจึงได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก เพราะมีความรุนแรงพอๆ กับสึนามิ ในส่วนของลูกเรือไทยหากใครสูญหายไปญาติๆ สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่กระทรวงการต่างประเทศเพื่อรวบรวมข้อมูลและช่วยเหลือ ต่อไป"

**โรงงานซีพีที่ย่างกุ้งโดนด้วย

นอกจากนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้ทำการตรวจสอบความเสียหายและผลกระทบกับกลุ่มนักลงทุนชาวไทยที่เข้าไปลงทุน ในพม่า โดยนายวิโรจน์ คัมภีระ รองกรรมการ ผู้จัดการ อาวุโส บริษัท กรุงเทพผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ ได้รับการบอกกล่าวว่า ได้รับทราบข่าวจากเจ้าหน้าที่โรงงานอาหารสัตว์ของเครือที่ประจำอยู่ที่เมือง มัณฑะเลย์ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของพม่าได้โทรศัพท์มาแจ้งให้ทราบว่า โรงงานอาหารสัตว์ของเครือซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองย่างกุ้งได้รับความเสียหายจาก พายุไซโคลนนาร์กิสพัดถล่มในครั้งนี้ด้วย

"เวลานี้ยังไม่ทราบความเสียหายที่ชัดเจน หากระบบการสื่อสารในย่างกุ้ง และสนามบินเปิดใช้ได้ ทางผู้บริหารจะได้เดินทางไปพร้อมตัวแทนบริษัทประกันภัยเพื่อสำรวจความเสีย หายทันที"

เช่นเดียวกับนายวิชัย พูนพิริยะทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ที่ระบุว่า การถล่มของพายุไซโคลนนาร์กิสครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนชาวพม่าแล้ว ยังสร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรด้วย เนื่องจากในเขตเมืองย่างกุ้ง และอีกหลายเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีถือเป็นแหล่ง ปลูกข้าวและข้าวโพดที่สำคัญ

ทั้งนี้ในส่วนของเครือซีพีได้เข้าไปส่งเสริมชาวพม่าเพาะปลูกข้าวโพดในลักษณะ การทำเกษตรแบบมีพันธะสัญญา หรือคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งมานานแล้ว (ปีนี้เป็นปีที่ 12 รวมพื้นที่ในประมาณ 7 แสนไร่) ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่แถบรัฐฉาน และส่วนหนึ่งอยู่ในเขตเมืองย่างกุ้ง อย่างไรก็ดีการถล่มของไซโคลนนาร์กิสครั้งนี้ ผลผลิตข้าวโพดไม่ได้รับผลกระทบ เพราะได้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องเมษายน ที่ผ่านมา

+++ใบหยกสูญรายได้กว่า10ล้าน

นายพันธ์เลิศ ใบหยก ประธานใบหยกกรุ๊ป บริษัท แลนด์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ในฐานะเจ้าของโรงแรมกันดอว์จี พาเลซ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เปิดเผยว่าตัวโรงแรมได้รับความเสียหายเล็กน้อย โดยขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากเมืองไทยเข้าไปประเมินความเสียหายเบื้องต้น แล้ว คาดว่าทางโรงแรมจะเสียโอกาสทางธุรกิจไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเปิดให้บริการได้เมื่อไร และไม่รู้ว่าเมื่อทุกอย่างเข้าสู่สภาพปกติ จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการมากน้อยแค่ไหน

นางกาญจนา เอกเศรณี ผู้จัดการ บริษัท เปี่ยมบุญทัวร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่ากรุ๊ปทัวร์จำนวน 18 คนที่ติดอยู่ในพม่าขณะนี้สามารถเดินทางกลับประเทศไทยโดยสวัสดิภาพแล้ว

ส่วนกรุ๊ปที่มีแผนจะเดินทางไปพม่าในเดือนนี้อีก 3-4 กรุ๊ป จำนวนเฉลี่ย 10-20 คนต่อกรุ๊ปนั้นได้มีการเลื่อนการเดินทางออกไปทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากระบบสาธารณูปโภคภายในเสียหายมาก และเกรงว่าจะเกิดปัญหาด้านโรคติดต่อและความสะดวกสบายอื่น ๆ และได้คืนเงินบางส่วนให้ลูกทัวร์ที่ไม่สามารถเดินทางไปตามโปรแกรมที่กำหนด ไว้

ด้านนายทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ในฐานะสายการบินที่เปิดบินระหว่างประเทศ เส้นทางกรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง เผยว่า สภาวะการบินอยู่ในภาวะปกติแล้ว อัตราบรรทุกเฉลี่ยก็อยู่ในที่ 70% เท่ากับช่วงเวลาปกติ ส่วนการบินไทยก็กลับมาเปิดเส้นทางบินเข้าพม่าวันละ 2 เที่ยวตามปกติแล้ว

**ปตท.ยันท่อก๊าซไม่เสียหาย

ส่วนทางด้านบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)(บมจ.ปตท.สผ.) ได้มีการรายงานว่า แท่นขุดเจาะสำรวจแหล่งปิโตรเลียมที่ดำเนินการอยู่ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่าง ใด ยังคงดำเนินการสำรวจขุดเจาะต่อไป แต่ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับสำนักงานในกรุงย่างกุ้งบ้างเล็กน้อย และบ้านพักคนงานที่มีอยู่กว่า 30 คน ได้รับความเสียหายและไม่มีไฟฟ้าใช้ ขณะที่แหล่งก๊าซเยตากุน และยาดานา ที่ผลิตก๊าซป้อนให้กับประเทศไทยนั้น ก็ไม่ได้รับความเสียหาย ยังสามารถจัดส่งก๊าซให้ได้อย่างต่อเนื่อง

++ธุรกิจชี้กระทบแค่ระยะสั้น

ด้านนายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์มาม่า เปิดเผยว่า ตลาดมาม่าในย่างกุ้งไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะมีความรุนแรง แต่เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น ดังนั้นคาดว่าในระยะ 2-3 วันทุกอย่างน่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ

แหล่งข่าวจากบริษัท เบทเตอร์เวย์(ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและของใช้ส่วนบุคคลภายใต้แบรนด์มิส ทิน กล่าวว่า บริษัทได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากพายุโซโคลน ทั้งนี้เนื่องจากพม่าไม่ใช่ตลาดหลัก อีกทั้งยอดขายในประเทศดังกล่าวยังน้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดหลักในประเทศไทย

ขณะที่นายไกรเสริม โตทับเที่ยง รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ปุ้มปุ้ย ปลายิ้ม กล่าวว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากการทำตลาดส่วนใหญ่จะอยู่แถบชายแดนและผ่านตัวแทนจำหน่าย รวมทั้งคาดว่าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องระยะสั้นที่ใช้เวลาไม่กี่วันก็จะเข้า สู่ภาวะปกติเหมือนที่ผ่านมา

**โอสถสภารอดหลังขายไลเซนส์

นายสุนทร เก่งวิบูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอสถสภา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการเกิดภัยพิบัติในประเทศพม่าแต่อย่างใด เนื่องจากได้ขายไลเซนส์แบรนด์ฉลาม และชาร์คให้กับนักธุรกิจพม่าเป็นผู้ผลิตและทำตลาดเอง และขณะนี้ก็ยังไม่มีรายงานความเสียหายเกี่ยวกับบริษัทดังกล่าวว่ามีมากน้อย ขนาดไหน

นายอุดม ตันติวศิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเคเค การ์เม้นท์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์โนบอดี้ (NOBODY) กล่าวว่า ตัวแทนจำหน่ายในประเทศพม่าได้ให้ข้อมูลถึงกรณีเกิดพายุในประเทศว่าธุรกิจไม่ ได้รับความเสียแต่อย่างใด และจากการพูดคุยกับดีลเลอร์คิดว่าผลกระทบน่าจะมีระยะสั้นๆ เพียงเดือนนี้เดือนเดียว ทั้งนี้คาดว่าภายหลังจากเหตุการณ์สงบลงแล้วคิดว่ายอดขายเสื้อผ้าน่าจะเพิ่ม มากขึ้นได้ เพราะความต้องการคงมีสูงขึ้นจากการที่ประชาชนสูญเสียทรัพย์สิน

**มาม่าขายซองละ50 บาท

นายโกติน (KO TIN) นักธุรกิจชาวพม่าจากกรุงย่างกุ้ง ซึ่งเดินทางเข้ามาติดต่อทำธุรกิจที่จังหวัดเกาะสองและจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ขณะนี้พม่าต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการยังชีพจำนวนมาก เนื่องจากโรงงานผลิตสินค้า คลังอาหารในประเทศพม่าที่สำคัญโดยพายุทำลายได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะ 3 เมืองสำคัญ คือ อิระวดี ย่างกุ้ง และพะโค๊ะ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศพม่า โดยสินค้าที่ต้องการมากที่สุดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาหาร ประเภทของแห้ง กินง่าย เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า ยำยำ ปลากระป๋อง ขนมแห้ง กาแฟ ข้าวสาร กลุ่มยารักษาโรค

อีกกลุ่มที่สำคัญที่สุดที่คาดว่า จะมีการสั่งซื้อมหาศาลจากไทย คือ กลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้าง ประกอบด้วยสังกะสี ปูนซีเมนต์ เหล็ก สี และกระเบื้องต่างๆ และอีกกลุ่มที่ต้องการมาก คือเสื้อผ้าประเภทมือ 2 ส่วนสินค้าที่คาดว่า จะมีคำสั่งซื้อลดลง ประกอบด้วยสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทโทรทัศน์ วิทยุเทป วิดีโอ วีซีดี เพราะทุกคนจะมุ่งไปยังกลุ่มสินค้าที่จำเป็นก่อน

"วันนี้ผมมาพร้อมกับเรือบรรทุกสินค้าขนาด 80 ตันกรอส เพื่อใช้สำหรับบรรทุกสินค้าจากฝั่งไทยกลับไปยังกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า โดยสินค้าที่มารับเป็นเสื้อผ้ามือสอง มาม่า ยำยำ ยารักษาโรค รวมถึงสินค้าสร้างบ้านในบางรายการ โดยเฉพาะสังกะสีมุงหลังตาตอนนี้มีความต้องการมาก"

นายโกติน กล่าวต่อไปว่า นอกจากสินค้าขาดแคลน ความต้องการสูงแล้ว สินค้าแต่ละรายการยังมีราคาที่สูงมาก อาทิ มาม่ารับจากฝั่งไทยราคาซองละ 350 จ๊าต แต่เมื่อไปถึงย่างกุ้งราคาจะขายอยู่ที่ 1,500 จ๊าต หรือกว่า 50 บาทไทยต่อซอง และจากวิกฤติปัญหาที่เกิดขึ้นคาดว่า ในอีก 2 เดือนข้างหน้า จะมีแรงงานพม่าทะลักเข้าไทยนับล้านคน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะพม่าจากลุ่มน้ำอิระวดี และย่างกุ้ง ที่ค่อนข้างเจริญกว่าจังหวัดอื่นๆ แต่ตอนนี้จำเป็นเพราะทุกอย่างโดนทำลายหมดทั้งบ้านเรือน และเครื่องมือทำมาหากิน

ไซบาร์ข่าวลีด



**นักวิชาการแนะจับตาจุดเปลี่ยนพม่า

นายสุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประเทศพม่า สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นต้องรอดูข้อมูลก่อนว่าความเสียหายเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพราะประเทศนี้ค่อนข้างจะมีปัญหาในเรื่องข้อมูลเนื่องจากเป็นประเทศปิด แต่ตนเชื่อว่าเหตุการณ์นี้น่าจะหนักหนาสาหัสมากเนื่องจาก ปกติรัฐบาลพม่าไม่เคยแสดงออกหรือออกมาขอความช่วยเหลือต่อนานาชาติเพราะไม่ ต้องการให้นานาชาติทราบถึงความล้าหลังของตนเอง แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติครั้งนี้ รัฐบาลพม่ากลับออกมาขอความช่วยเหลืออย่างเห็นได้ชัด

"นอกจากนี้จากภาพถ่ายดาวเทียมทำให้เรารู้ว่าจุดที่ได้รับภัยพิบัติก็คือ บริเวณพม่าตอนล่าง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์มากจนทำให้พม่าในอดีตสามารถส่งออกข้าว ได้อันดับหนึ่งของโลก ตรงนี้จึงทำให้ประชาชนพม่าจะต้องเดือดร้อนอีกมาก นอกจากทรัพย์สินที่ถูกทำลาย พืชผลการเกษตรที่เสียหาย และจะตามมาด้วยโรคระบาด"

เหตุการณ์ครั้งนี้อาจจะเกิดจุดเปลี่ยนในพม่าได้เพราะที่ผ่านมาเมื่อประชาชน มีการเคลื่อนไหว รัฐบาลก็ส่งทหารเข้าปราบปรามอย่างหนัก แต่เมื่อประชาชนเดือดร้อนทหารจะช่วยเหลือประชาชนอย่างไร ตรงนี้ถ้าปล่อยไว้ไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขอาจจะส่งผลกระทบทางการเมืองใน ระยะยาว

สอดคล้องกับนายลาร์รี่ เจแกน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่า และนักข่าวอิสระที่เคยมีงานเขียนเกี่ยวกับพม่าหลายเล่ม และมีโอกาสได้พูดคุยกับชาวพม่าหลายคนที่อยู่ในเหตุการณ์บอกว่า เมืองย่างกุ้งของพม่าอยู่ในสภาพเหมือนกับเจอสงครามมาอย่างหนัก นอกจากนี้เขาบอกด้วยว่า งานนี้จะเกิดแรงกดดันต่อรัฐบาลให้เร่งพยายามแก้ไขปัญหากันอย่างดีที่สุด เพราะไม่ต้องการให้เรื่องนี้ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านการเมือง

0 comments:

Template by : kendhin x-template.blogspot.com