Monday, January 14, 2008

เยือนเกาะสน ยลเกาะสอง จากระนองสู่เมียนมาร์ (จบ)

เยือนเกาะสน ยลเกาะสอง จากระนองสู่เมียนมาร์ (จบ)

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 กรกฎาคม 2550 18:41 น.
โดย : จุชดานิน

เจดีย์ชเวดากองจำลองสีทองอร่ามสุกใส
หลังจากเที่ยวสำรวจบนเกาะสนไปแล้ว (เนื้อเรื่องในตอนที่แล้ว) และหลังจากหลับเต็มอิ่มมาทั้งคืน วันนี้ฉันจะไปเที่ยวยังเกาะสองกันบ้าง โดยนั่งเรือของอันดามันคลับไปประมาณ 15 นาที ก็มาถึงยัง "เกาะสอง" ที่คนไทยรู้จักกันดี หรือจะเรียกแบบอินเตอร์ว่า "วิคตอเรียพอยต์" ก็ไม่ผิดแปลกอะไร

เกาะสองแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตแดนทางตอนใต้สุดของประเทศพม่า พื้นที่ตรงนี้ในอดีตสมัยอยุธยาเคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ชื่อว่าเมืองมลิวัน แต่เมื่ออังกฤษได้ขยายอิทธิพลเข้ามาครอบครองพื้นที่ จึงได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นมาคือ วิคตอเรียพอยต์ เพื่อใช้เป็นเมืองท่าติดต่อค้าขาย โดยใช้แม่น้ำกระบุรีเป็นเส้นแบ่งพรหมแดนระหว่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5

ทิวทัศน์บนเกาะสอง
เล่ากันว่าทางฝั่งตรงข้ามของท่าเรือขึ้นเกาะสองมีจุดที่เรียกว่าวิคตอเรียพอยต์ ซึ่งเป็นชื่อที่นำมาจากชื่อของพระนางเจ้าวิคตอเรีย ของอังกฤษ เมื่อก่อนเรือที่ล่องผ่านพื้นที่จุดนี้จะต้องเปิดหวูดแสดงความเคารพ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแต่เป็นเรื่องเล่าเท่านั้น

ระหว่างที่เรือผ่านเข้าสู่เกาะก่อนจะเทียบท่า ฉันเห็นอาคารหลังใหญ่ศิลปะแบบพม่า หลังคาลดหลั่นเป็นชั้นๆสีทองๆ สวยเด่นเป็นสง่า ฉันเดาว่าคงเป็นวัดใดวัดหนึ่งเป็นแน่แท้ พวกเราในเรือพากันยกกล้องถ่ายรูปกันยกใหญ่ ชั่วครู่ก็มีเสียงหัวเราะเล็กๆจากเจ้าหน้าที่อันดามันคลับ แล้วพูดออกมาว่า "นั่นเป็นร้านอาหารนะครับ ไม่ใช่วัด ไม่ต้องยกมือไหว้" ได้ฟังดังนั้นพวกเราร้อง อ้าว ขึ้นมาพร้อมๆกันพร้อมกับอาการที่เรียกว่าอึ้งกิมกี่ ก่อนที่จะมีเสียงหัวเราะเยาะตัวเอง(ในใจ)ตามมา

อนุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนองบนเกาะสอง
เมื่อเรือเทียบท่า เมื่อฉันก้าวขึ้นสู่เกาะสอง รู้สึกได้เลยว่าตัวเองเป็นชาวต่างชาติต่างถิ่น มองซ้ายแลขวามีแต่ชาวพม่าเต็มไปหมด แล้วยังรู้สึกว่าเขามองเราแปลกๆอีกด้วยไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่า แต่ก็แอบนึกในใจว่าดีนะที่เรามากันเป็นกลุ่มแล้วยังมีไกด์ของอันดามันคลับตามมาด้วย ช่วยให้อุ่นใจขึ้นมาเยอะเลย

ไกด์บอกให้พวกเราขึ้นรถสองแถวเพื่อจะไปยังสถานที่แรกคือ "อนุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนอง" ที่ยังคงดูใหม่เอี่ยมอ่องอรทัย สวมชุดนักรบยืนเท้าซ้ายยกตั้งขึ้นเล็กน้อย มือเหมือนกำลังจะชักดาบ หันหน้าเข้าหาฝั่งไทย ดูสง่ามั่นคงเหมือนกำลังประกาศศักดานุภาพอย่างไรอย่างนั้นเลย

ไกด์บอกว่าพระเจ้าบุเรงนองใจดี และปกครองพม่ามากว่า 30 ปี ชาวพม่ายกย่องพระเจ้าบุเรงนองมาก ก็คงคล้ายๆกับที่พวกเราชาวไทยนับถือและยกย่องพระนเรศวรมหาราช จากนั้นพวกเราก็ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันอย่างเมามัน พร้อมกับเสียเงิน 20 บาทค่าถ่ายรูป ซึ่งนอกจากจะเสียค่าเข้าชมอนุสาวรีย์แล้ว หากจะกดชัตเตอร์ก็ต้องจ่ายเพิ่มอีกด้วย แต่เพื่อรูปที่ระลึกสวยๆก็ยอมกันได้

ที่ตั้งอนุสาวรีย์แห่งนี้อยู่บนเนินสูง จึงสามารถเห็นวิวทิวทัศน์ได้กว้างไกล เมื่อมองไปอีกฟากหนึ่งของเกาะสองไกด์บอกว่าที่เห็นไกลๆนั่นคือ "เจดีย์แห่งความสงบ" สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1948 หลังจากที่พม่าได้อิสรภาพจากอังกฤษ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเจดีย์แห่งนี้

พระพุทธรูปองค์ใหญ่หนึ่งในพระพุทธรูปอีกหลายองค์ภายในวัดบนเกาะสอง
จากนั้นเราจะไปไหว้พระเอาฤกษ์เอาบุญกันที่ "วัดพีเดอเอร์" ระหว่างทางก่อนที่จะไปถึงยังวัด รถสองแถวพาเราวิ่งผ่านวงเวียนเล็กๆที่มี "อนุสาวรีย์อองซาน" เป็นรูปคนขี่ม้าสีทองสุกใสตั้งอยู่กลางวงเวียน ซึ่งคนที่อยู่บนม้าคือ นายพลอองซาน พ่อของนางอองซานซูจี นั่นเอง

เมื่อไปถึงยังวัด ข้างทางมีร้านจำหน่ายเครื่องบูชาพระ พระเครื่อง และสิ่งของต่างๆสำหรับทำพิธีต่างๆ ซึ่งดูแล้วแปลกตาไปกว่าของบ้านเรา ดอกไม้ที่บ้านเราใช้ดอกบัว แต่ที่นี่ใช้ดอกเบญจมาศมีทั้งสีเหลือง สีขาว และก่อนจะเข้าไปในเขตวัด ทุกคนต้องถอดรองเท้าด้วย ฉันไม่อยากถอดเลยเพราะดูแล้วแดดกำลังแรง อีกทั้งพื้นวัดเป็นเหมือนกระเบื้องท่าจะร้อนเท้ามากทีเดียว แต่ก็ต้องจำยอมเนื่องจากเป็นประเพณีปฏิบัติของเขา แต่เมื่อเหยียบย่างไปแล้วกลับไม่รู้สึกว่าร้อนแต่อย่างใด ซึ่งทำให้ฉันประหลาดใจมาก ไม่รู้ว่าเขาใช้กระเบื้องอะไรปู มันช่างดีจริงๆ

ภายในวัดดูสงบ สวยงาม และสะอาดสะอ้าน ฉันเดินเข้าไปไหว้พระพุทธรูปขนาดใหญ่ทางด้านขวามือก่อนที่จะเข้าไปยังสถานที่ที่ภายในประดิษฐานพระประจำวันเกิด แต่ต้องขอบอกก่อนว่าหากเราไม่สามารถอ่านภาษาเมียนมาร์ หรือไปโดยไม่มีไกด์หรือผู้รู้พาไปแล้วละก็ไหว้ไม่ถูกเป็นแน่ เพราะพระประจำวันเกิดของที่นี่เขามีลักษณะเหมือนกันหมด มีเพียงตัวอักษรบอกเท่านั้นว่าเป็นพระประจำวันใด สำหรับผู้ที่ไม่รู้จริงๆฉันขอแนะนำให้ไหว้ให้หมดทุกวันไปเลย เพราะยังไงก็ได้บุญเหมือนกัน

ออกมาด้านนอกก็มีพระพุทธรูปอีกหลายองค์ เช่น พระทันใจ พระศิวะลี พระแผ่บารมี 4 ทิศ ให้พวกเรานมัสการกราบไหว้ขอพรเป็นสิริมงคล และที่เห็นจะโดดเด่นมีชื่อเสียงของวัดนี้ก็คือ "เจดีย์พีเดอเอร์" ที่จำลองแบบมาจาก "เจดีย์ชเวดากอง" สีทองอร่ามตัดกับสีของท้องฟ้าดูสวยงามมาก ซึ่งเจดีย์นี้ฉันคิดว่าน่าจะเป็นเจดีย์หลังเดียวกับเจดีย์แห่งความสงบที่เรามองเห็นกันอยู่ไกลๆจากบริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนอง

แม่ค้าชาวพม่ามาขายของบริเวณท่าเรือเกาะสอง
หลังจากได้บุญและได้ใจกันไปแล้ว ที่สุดท้ายที่พวกเราจะไปคือ "ตลาดร่างสุเวเนีย์" ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับท่าเรือ บรรยากาศของตลาดแห่งนี้ดูเหมือนตลาดตามชนบทในสมัยก่อน ร้านรวงมีไม่มากนักและของที่ขายส่วนใหญ่จะเป็นของพื้นบ้านพื้นเมือง เช่นพวกแป้งทานาคาสำเร็จรูป หรือจะเป็นแบบออริจินัลที่ใช้ท่อนไม้ทานาคาฝนกับแผ่นหินก็มีให้เลือกช้อป ผ้านุ่งโสร่ง เสื้อยืดลายตัวอักษรพม่า เครื่องสานหวาย ไม้แกะสลัก หรือจะเป็นพวกเครื่องประดับต่างๆ อาทิ พลอย มุก ก็มีให้เลือกมากมาย เพราะที่นี่เขาได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเลี้ยงมุก สินค้าบางชิ้นบางอันมีตำหนิ ต้องรู้จักเลือกให้เป็น แล้วก็ราคาต่อรองกันได้

ก่อนที่จะขึ้นเรือกลับฉันขอเตือนไว้หน่อยว่า ที่เกาะสองแห่งนี้ส่วนมากจะพูดภาษาเมียนมาร์ พูดไทยได้บ้างแต่จะฟังยาก และตัวหนังสือก็จะเขียนเป็นภาษาเมียนมาร์เช่นเดียวกัน หากจะมาเที่ยวขอแนะนำให้หาไกด์หรือผู้ที่เชี่ยวชาญมากด้วยเพื่อความสะดวกและปลอดภัย ส่วนเรื่องการจราจรที่เกาะแห่งนี้ส่วนมากจะใช้มอเตอร์ไซด์เป็นพาหนะ และขับกันได้วุ่นวายมากและจะบีบแตรเป็นสรณะ ดังนั้นขอให้เดินกันอย่างระมัดระวังเป็นที่สุด และอากาศค่อนข้างร้อน แดดแรงควรพกหมวกพกร่มมาด้วยจะเป็นการดีที่สุด

เครื่องประดับทำจากมุกมีให้เลือกซื้อเลือกชมมากมาย
สำหรับทริปนี้แม้จะมีเวลาเพียงน้อยนิด แต่ก็ทำให้ฉันได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆเพิ่มขึ้น เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่หาไม่ได้หากเราไม่ก้าวออกมาเปิดโลกของตัวเอง และหากมีโอกาสครั้งหน้าฉันจะอยู่ให้นานกว่านี้เพื่อที่จะได้เที่ยวให้ได้ทุกซอกทุกมุม แบบเอาให้พูดกับชาวหม่องได้รู้เรื่องเลยทีเดียว

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

การเดินทางไปยังเกาะสน-เกาะสอง ประเทศพม่า สามารถติดต่อผ่านทางโรงแรมอันดามันคลับ โทร.0-2285-6404-7 หรือลงเรือที่ปากน้ำระนอง(สะพานปลา) โดยต้องทำหลักฐานใบผ่านแดนใช้รูปถ่าย 3 รูป สำเนาบัตรประชาชน 3 ชุด พร้อมบัตรประชาชน ค่าธรรมเนียมคนไทย 30 บาท/คน เปิดทำการ 07.00-18.00 น. ทุกวัน สอบถามโทร. 0-7781-1293

0 comments:

Template by : kendhin x-template.blogspot.com