จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2360 24/09/2008
พม่าเลิกเห่อสินค้าจีน เหตุคุณภาพต่ำ หวนมาใช้สินค้าไทย ผู้ประกอบการไทย ปลื้ม ยอดส่งออกเติบโตกว่า 30% หอฯระนองระบุตลาดมืดยังคึกคักถึง 65% พร้อมให้เดินกลยุทธ์รักษาลูกค้าหม่องให้อยู่มือ
นายพงษ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรจังหวัดระนอง กล่าวว่าการค้า-ส่งออกไทย-พม่าขณะนี้ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ดีมาก ยอดการนำเข้า-ส่งออกขยับเพิ่มขึ้นกว่า 30% สวนทางกับเศรษฐกิจที่กำลังมีปัญหาในขณะนี้ ที่สำคัญยังมีหลายกลุ่มสินค้าใหม่ๆ หลายตัวที่กำลังเป็นสินค้าดาวรุ่งที่กำลังได้รับความนิยมในพม่า
"สถิติสินค้านำเข้า-ส่งออก เฉพาะที่ผ่านทางด่านศุลกากรระนองในช่วงเดือนสิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา มียอดการนำเข้าทั้งหมด 247,115,768 บาท ส่วนยอดการส่งออกที่พม่านำเข้าจากไทยหรือสั่งซื้อจากไทยจำนวน 830,528,356 บาท โดยในกลุ่มสินค้าส่งออกมีสินค้าหลายๆ ตัวที่มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมากอาทิน้ำมันพืช เดือน ส.ค.ที่ผ่านมามีการส่งออก 38,937,980 บาท,เครื่องดื่มต่างๆ 30,765,978 บาท,ครีมเทียม,โอวัลติน 19,054,689 บาท ,เครื่องดื่มให้พลังงาน 15,952,847 บาท,เวชภัณฑ์ยา 11,386,737 บาท,ขนม 3,370,273 บาท,นมสด,นมข้น 1,732,240 บาท"
นายดำรง ขจรมาศบุษย์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดระนอง และผู้ส่งออกยารายใหญ่ กล่าวว่า ตลาดการค้าไทย-พม่าที่ถูกต้อง คิดเป็นสัดส่วนเพียง 35% เท่านั้น ที่เหลืออีก 65% เรียกว่าตลาดมืด คือตลาดที่มีการส่งออกโดยไม่ผ่านกระบวนการทางศุลกากร ซึ่งหากตัวเลขทางด่านศุลกากร ที่มีอัตราการขยายตัว แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้บรรยากาศการค้า ในส่วนของตลาดมืด ก็คึกคักเช่นเดียวกัน
"จากกรณีที่สินค้าจากจีนมีปัญหา ถือเป็นจังหวะที่ดีที่ สินค้าจากไทยจะกลับมาหวนคืนยึดตลาดพม่าอีกครั้ง ซึ่งอยู่ที่กลุ่มผู้ค้าคนไทย ว่าจะปฏิบัติอย่างไร หรือมีแนวทางการทำตลาดอย่างไรเพื่อที่จะยืนหยัดอยู่ในตลาดพม่า ไม่เกิดปัญหาเช่นที่ผ่านมา"
นายธีระพล ชลิศราพงษ์ นักธุรกิจค้าชายแดนไทย-พม่าด้านจังหวัดระนอง-เกาะสอง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าสภาวะตลาดการค้าขาย ตามแนวชายแดนไทย-พม่า โดยเฉพาะด้านจังหวัดระนอง-เกาะสอง รวมถึงบรรยากาศค้าขายโดยทั่วไป ระหว่างไทยกับพม่าว่าขณะนี้บรรยากาศการค้าขายสุดคึกคัก เนื่องจากผู้ประกอบการชาวพม่าจำนวนมากเริ่มไม่พอใจสินค้าจากจีน
"วันนี้พม่ามีความต้องการสินค้าจากไทยมากด้วยเหตุผล 2 ปัจจัยหลักคือ หนึ่งผลจากความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ พม่าเริ่มฟื้นตัวได้ จึงทำให้ความต้องการบริโภคขยับพุ่งตามไปด้วย ประกอบกับ โรงงานผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค ในพม่าจำนวนหลายร้อยโรง ประสบความเสียหายจากภัยพิบัติ อีกปัจจัยคือ คุณภาพของสินค้าจากประเทศจีน ยังไม่ค่อยจะได้มาตรฐานมากนัก ทำให้ชาวพม่าเริ่มเกิดความไม่มั่นใจ และลังเลที่ จะซื้อสินค้าจากจีน แม้ว่าราคาจะต่ำกว่าสินค้าไทย แต่ส่วนหนึ่งจึงหันกลับมาสั่งซื้อสินค้าจากไทย ส่งผลให้ ยอดการส่งออกสินค้า จากประเทศไทยช่วงตั้งแต่กลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมาขยับสูงกว่าช่วงปกติ 30-40%"
นายธีระพลกล่าวต่อว่าชาวพม่าแบ่งระดับสินค้าที่จำหน่ายในพม่าเป็น 5 ระดับตามราคาและคุณภาพของตัวสินค้า สำหรับสินค้าจากไทย ถือเป็นสินค้าระดับคุณภาพเกรดเอ ส่วนสินค้าจากประเทศจีนเป็นสินค้าคุณภาพต่ำ แต่มีข้อได้เปรียบคือ มีราคาถูกกว่าสินค้าจากไทย ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมาสินค้าจากจีนหลายๆ ตัวโดยเฉพาะ สินค้าประเภท อุปโภค-บริโภค สามารถเข้ามาเบียดแย่ง และยึดครองตลาดในพม่าได้เป็นจำนวนมาก
"แต่จากปัญหาคุณภาพของสินค้าที่มีมาอย่างต่อเนื่องของจีน ส่งผลให้ ชาวพม่าขาดความเชื่อมั่นลงไปเรื่อยๆ เริ่มจากสินค้า ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ก่อนหน้านี้สินค้าจากไทย ถูกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกเบียดแย่งตลาดไปกว่าครึ่ง แต่ปัจจุบัน ปรากฏว่าความนิยมในสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน ลดลงเป็นอย่างมาก เกิดจากปัญหาด้านคุณภาพที่ไม่ทนทาน ดังนั้นสินค้าไทยจึงสามารถเบียดแย่งตลาดคืนกลับมาได้"
นอกจากนี้สินค้าอีกหลายๆตัว ที่โดนสินค้าจากจีนแย่งตลาดอาทิผลิตภัณฑ์ยา,เครื่องดื่ม,อาหารกระป๋อง,นม,ขนม,น้ำมันพืช,บะหมี่ แต่วันนี้ปรากฏว่า สินค้าเหล่านั้นต่างมียอดการสั่งซื้อ กลับเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นช่วงโอกาสที่ดี ที่ผู้ค้าและผู้ประกอบการจากไทย จะใช้จังหวะนี้เบียดแย่งตลาดการค้าในพม่ากลับคืนมาจากจีน
Read More......